essay

การจากลา ความสวยงาม ความทรงจำ

คุณอาจมองเป็นเพียงความเมามาย คุณอาจมองมันเป็นสิ่งชั่วคราว

ใช่, ชีวิตล้วนชั่วคราวไม่ใช่หรือ เกิดมา ใช้ชีวิต จบด้วยตายจาก มันจบไป 50 กว่าปีแล้ว-ในปี 1970 วงดนตรี Rock and Roll ชื่อดังก้องโลก The Beatles ประกาศยุติกิจกรรมทุกอย่างในฐานะวงดนตรีอย่างเป็นทางการ

หากนับตั้งแต่อัลบั้มแรกถึงอัลบั้มสุดท้าย ถือได้ว่าอายุวงของ The Beatles นับเวลาได้เพียงประมาณ 7 ปี 

“All my loving, I will send to you”

ท่อนหนึ่งจากบทเพลงขึ้นหิ้ง All my loving งานสตูดิโออัลบั้มที่สอง With The Beatles (1963)

ผมฟัง The Beatles ครั้งแรกตอนเรียนมัธยมฯ แรกๆ ยอมรับว่าเข้าไม่ถึง (เพราะยังเป็นวัยรุ่นสายฟังเพลงหนักๆ อย่างเดียว) แต่พอโตขึ้น และได้ศึกษา เข้าใจดนตรีมากขึ้น ก็หลงรัก ‘สี่เต่าทอง’ อย่างสุดหัวใจ 

ทุกอัลบั้มของเขาเหมือนการเดินทางและการเติบโต ผ่านสังคม แฟชั่น พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและพัฒนาการทางดนตรีในยุค ’60 มีการผสมผสานดนตรีหลากหลายประเภท (ทั้งทางยุโรปและเอเชีย) ทำให้พวกเขาแตกต่างและโดนใจ เรียกว่าเป็นวงที่ชอบที่สุดตั้งแต่ผมฟังเพลงมา

ฟังกี่ทีก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนตอนได้ฟังครั้งแรกเสมอ

Paul McCartney, John Lennon, George Harrison, Ringo Starr สมาชิกทั้งสี่มีความสนใจ นิสัย ทัศนคติ ที่ต่างกันออกไป แต่เป็นความแตกต่างที่รวมกันได้อย่างลงตัวและสวยงาม มีความรักในการสร้างสรรค์ดนตรี และรักในผู้ฟังของเขา

ช่วงเวลาสั้นๆ การจากลาที่ไม่มีอะไรต้องเสียดาย ผมเชื่อแบบนั้นว่าในเวลาที่เขาทั้งสี่ได้เล่นดนตรีร่วมกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน แม้จะผ่านมา 50 กว่าปีแล้ว แต่มันถูกจดจำ เป็นความทรงจำที่ฉายซ้ำๆ ในใจของแฟนเพลงทั่วโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งเกิดทันและไม่ทัน (ไม่ทันเช่นผม) และเหมือนมันไม่เคยหายไป แม้เป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปนานแล้ว

ที่สำคัญ ผมมองว่าพวกเขาคือคนที่ไม่หยุดนิ่ง เขาสามารถละวาง Ego และเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ จากผู้อื่นได้เสมอ (หลักฐานที่แสดงชัดเจน โปรดฟังผลงานเดี่ยวของ Paul McCartney ตั้งแต่ยุค 70, 80-ปัจจุบัน) พวกเขาสร้างสรรค์ดนตรีด้วยความรักและจิตใจอันบริสุทธิ์

จากสารคดีที่ผมได้รับชมมา เขาให้เกียรติผู้ที่ร่วมงานด้วยเสมอในทุกตำแหน่ง ไม่มีการถือตนและแบ่งลำดับชั้น

“But tomorrow may rain, so I’ll follow the sun” 

ในตอนเช้าผมเปิดเพลง I’ll follow the sun ดื่มกาแฟแก้วแรก เตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ เพลง Inner light ดังขึ้นถัดมา เริ่มเพลงด้วยเสียงซีตาร์จากปลายนิ้วของ George Harrison ผมทบทวนตัวเองและตั้งสติ ความง่วงเริ่มหายไป พลังใจและกายเริ่มสูบฉีด 

รอยสัก โปสเตอร์ หนังสือ ซีดี แผ่นเสียง 

รู้ตัวอีกทีชีวิตของผมมองไปทางไหนก็เจอแต่สี่เต่าทองไปทุกที่ กล้าพูดได้เต็มปากว่าบทเพลงของพวกเขาเป็นส่วนหลักของความหวังที่ทำให้ผมผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ เปรียบเสมือนเพื่อนที่รู้ใจ ที่เข้าใจเราและพูดความรู้สึกหลายๆ อย่างแทนตัวเรา 

ผมเชื่อว่าบทเพลงเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงชีวิตของผมไปจนหมดลมหายใจ

“Take a Sad song and make it better”

“นี่คือทั้งหมดที่คุณต้องการใช่ไหม ?”

คำพูดของ จอห์น เลนนอน ที่พูดกับ มาร์ค เดวิด แชปแมน หนึ่งในแฟนคลับของ The Beatles ก่อนที่เช้าวันต่อมา (8 ธันวาคม 1980) ชายคนนั้นจะพรากชีวิตของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จากโลกนี้ไปตลอดกาล

ร็อคแอนด์โรล คือดนตรีของความดิบ ความก้าวร้าว ขบถ แหกคอกและตั้งคำถามต่อสังคม รวมถึงตนเอง ในปี 1971 หลังการแยกวงของ The Beatles จอห์น เลนนอน ได้เดินทางมาเหยียบแผ่นดินสหรัฐอเมริกา และไม่ได้กลับอังกฤษอีกเลย 

บริบทสังคมยุคนั้น รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน สนับสนุนสงครามเวียดนาม เกิดปรากฏการณ์การต่อต้านจากเหล่าวัยรุ่นบุปผาชนอย่างกว้างขวาง การที่จอห์นเข้ามาในอเมริกาเป็นดั่งการเร่งปฎิกริยา การระเบิด ประทุของการเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม 

การต่อสู้ครั้งใหม่ของจอห์นเริ่มขึ้น เรื่องราว บทเพลง และการต่อสู้เพื่อสันติภาพ ในบทบาทใหม่ที่มากกว่าคนบนเวที

เขาชนะหรือไม่ ? ผมว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญของเรื่องราวนี้ 

เวลาบ่ายแก่ๆ ในห้องซ้อมดนตรีของคณะดุริยางค์ ผมและวงดนตรีของผม กำลังเริ่มซ้อมดนตรีหลังจากที่ไม่ได้เล่นด้วยกันมาเกือบหนึ่งเดือน ด้วยความรู้สึกกระหายบรรเลง เราเล่นเพลง Come Together ใส่กันสุดพลัง ร้องกันอย่างสุดเสียง กีตาร์ ดับเบิลเบส และปี่โนราห์ กำลังเคี่ยวกรำกันอย่างดุเดือด ในวินาทีนั้น ผมสัมผัสได้ถึงลมหายใจและจิตวิญญาณของ จอห์น เลนนอน

เหมือนว่าเขาไม่เคยจากไปไหน ทั้งที่เรายังไม่เคยพบกัน

“ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีเส้นแบ่งประเทศ โลกที่ปราศจากสงคราม และความหิวโหย”

ทุกวันนี้ก็ยังห่างไกลจากโลกที่คุณฝันไว้เลย จอห์น 40-50 ปีผ่านมาแล้ว บริโภคนิยมเติบโตและแผ่ขยายไปทั่วโลก ทำสงครามที่เรามองไม่เห็นกันอยู่ทุกวัน แต่สิ่งที่คุณทำมันไม่สูญเปล่าเลย บทเพลงของคุณยังให้ความหวังต่อลมหายใจให้กับหลายชีวิตบนโลกใบนี้ 

อุดมการณ์ของคุณจะคงอยู่ไปตลอดกาล

ผมต้มน้ำร้อน ชงกาแฟแก้วที่ 3 ของวัน จุดบุหรี่มวนที่เท่าไหร่แล้วก็จำไม่ได้

ดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนมาอยู่เหนือหัว นำพาอากาศร้อน 30 กว่าองศามาในฤดูหนาวของประเทศไทย

“พวกคุณต่างหากที่ไม่เข้าใจชีวิต”

ศิลปิน ? ร็อคสตาร์ ? วีรบุรุษ ? กวี ?

ทุกคนต่างนิยามชายคนนี้ต่างกันออกไปในมุมที่ต่างคนมองเห็น 

ผมชื่นชมชายคนนี้ในฐานะมนุษย์ มนุษย์ที่มีจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจ มีมุมที่ดีและไม่ดีซึ่งล้วนเป็นธรรมดา มนุษย์ที่มีความรัก ต่อโลก สังคม ศิลปะและสันติภาพ 

มนุษย์ที่แค่อยากเห็นโลกนี้สงบสุข ไม่ต้องมีใครเจ็บใครตายเพราะต้องเป็นหมากในสงครามของคนอื่น 

มนุษย์ที่เพียงแค่อยากมีความสุข

จอห์น เลนนอน คือผู้ที่ผมเลือกเอาเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตและเป็นแรงบันดาลใจเสมอไป 

ขอขอบคุณจากส่วนลึกของจิตใจ

“All you need is love”

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องโดย Passakorn


เกี่ยวกับผู้เขียน : ‘วินเนอร์’ พัสกร สหชัยรุ่งเรือง นักศึกษาปี 3 คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังสนุกกับการเล่นดนตรีและเขียนเพลง (เดี่ยวและแบนด์) ทดลองฟังผลงานเขาได้ที่เพจ Passakorn

You may also like...