ไม่ใช่จะสอนสังฆราช ไม่ใช่จะเอามะพร้าวมาขายสวน ใครจะกล้าหาญชาญชัยขนาดนั้น แค่อยากสรุปข้อขัดข้องของน้องพี่ที่เขียนรูปแล้วไม่ได้ดังใจ มีวัสดุอุปกรณ์เพียบพร้อม ทั้งรู้จัดชัดเจนในรูปธรรมนามธรรมหมดสิ้นแล้ว ยังวาดไม่ได้ ระบายสีไม่เป็น ก็วาดตามตัวอย่างแล้ว เลียนแบบครูแล้ว ยังรู้สึกว่าไม่ใช่อย่างที่ใจอยากเห็น ไม่เป็นตัวเอง
ที่คุยกันวันนั้นคือเราวาดรูปทำไม เรารู้ว่างานศิลปะทุกอย่างทุกระดับมีค่าสากลอยู่ เราถกเถียงในขอบข่ายงานจิตรกรรมกับพี่ๆ น้องๆ ที่แสดงความสมัครใจใฝ่ศึกษาและมองว่าศิลปะคือความเริงร่าของชีวิต ยังปรารถนาสร้างสรรค์ผลงานแทนการย่ำอยู่กับการเลียนแบบ เรานับเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะมีใครอีกหลายคนอยากสัมผัสให้ลึกถึงความงามที่แฝงตัวอยู่ในผลงาน
ชาวโลกเขาดูอะไรกันบ้างในผลงานศิลปะแต่ละชิ้น ดูเนื้อหาและเส้น สีแสงเงาของรูปร่างรูปทรงต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวกันอยู่ (content, composition of art elements) เขาดูว่ารูปทรงและสีสันที่ผูกพันกันอยู่นี้เล่าเรื่องอะไรบ้าง ส่งเสียงหวานเศร้าเหงาเริงร่าอย่างไร หลายคนคุ้นเคยได้ยินได้เห็น บางคนผ่านมือผ่านตามาแล้ว งานศิลปะในรูปแบบต่างๆ บางคนฝันถึงวันที่จะวาดได้ระบายสีเป็นตามใจ เพื่อวาดสีสันให้ชีวิตอิสระ ถึงขั้นสามารถก้าวข้ามกฎเกณฑ์พื้นฐานของการทำงานศิลปะ แสดงออกได้ตรงตามความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึก
ความฝันแบบนี้มีข้อเท็จจริงที่มองข้ามไม่ได้ คือถ้าคนวาดกับคนดูไม่มีประสบการณ์ร่วมในเหตุการณ์ที่มีเนื้อหาคล้ายกันก็คงยากเกินจะเข้าใจ ที่ไม่ดิ้น ไม่เป็นอื่น น่าจะอยู่ในส่วนของทัศนธาตุอย่างเส้นสีแสงเงามากกว่า ถ้าเราเข้าใจในข้อเท็จจริงนี้ เราก็จะไม่รู้สึกผิดทั้งคนวาดกับคนดูที่อาจตีความต่างกันไป
ในรูปภาพเราเห็นสาระอะไรของงานจิตรกรรมบ้างระหว่าง Line, color, shape, form, value, texture หรือ space
เส้น เป็นเครื่องมือแรกสุด ตรงสุดจากมือแล้วลากออกมา มีเส้นเรียบสม่ำเสมอ เส้นอิสระเร็วแรง แสดงอารมณ์ได้ เส้นตรง เส้นโค้งเส้นสายอิสระหรือเส้นยากๆ อย่างเส้นเชิงนัย
สี เป็นส่วนประกอบที่ทรงพลังที่สุด ตาคนมองเห็นสีได้นับล้านสีที่เปล่งออกมาจากวัตถุนั้น ความมืดความสว่างของสีอยู่ที่ความเข้มข้นของเม็ดสี สีตัดกัน สีกลมกลืน และอุณหภูมิของสีเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ
รูปร่าง เกิดจากการปิดล้อมขององค์ประกอบอื่นๆ หรือเกิดจากเส้นแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ที่ทำให้เกิดรูปร่างใหม่
รูปทรง เป็นพื้นที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับรูปทรงเรขาอย่างแยกไม่ได้ จะทำให้ซับซ้อนหรือเรียบง่ายก็ได้ ยังมีรูปทรงอิสระด้วย รูปทรงจะเป็นสามมิติเสมอ จะมีความกว้างยาว สูงหรือหนาและทำให้เกิดแสงเงาได้ ถ้าเล่นเป็น
พื้นผิว คือการสร้างความรู้สึกที่สัมผัสแล้ว อยากให้ดูหยาบหรือเนียน อยากโปะสีหนาบาง หรือการเข้าใจเลือกวัสดุรองรับ ให้สามารถถ่ายทอดพื้นผิวที่ดูเหมือนจริง
น้ำหนัก คือค่ามืดค่าสว่างของสี ศิลปินรู้วิธีจะบวกสีขาวหรือบวกสีดำสร้างโทนสีใหม่ได้นับร้อยนับพันสี
พื้นที่ว่าง ช่องว่าง บริเวณว่างแล้วแต่จะเรียกกันไป พื้นที่ตรงนี้ ทำให้เห็นความลึกตื้นดูเป็นสองมิติหรือสามมิติได้ ทำให้เห็นว่าอยู่ใกล้กัน บังกันซ้อนกันอยู่ การบังซ้อนแบบทัศนียวิทยา ศิลปินใช้อันนี้สร้างภาพลวงตาทำสามมิติบนพื้นที่สองมิติได้ และใช้สร้างมุมมองบรรยากาศของสิ่งที่อยู่ไกลๆ ที่รายละเอียดน้อย ดูคลุมเครือต่างจากสิ่งของที่อยู่ใกล้เห็นการตัดกันของแสงเงาชัดเจนกว่าภาพจึงดูคมชัด
ทั้งหมดนี้คือสาระ ที่ปรากฏในรูปลักษณ์ตื้นลึกหนาบางประกอบกันอยู่ในภาพ มีแน่ๆ รูปร่างรูปทรง เพียงแต่อะไรมากอะไรน้อย คนวาดเลือกอะไรมาใช้ส่งสาร
เมื่อมีใครชวนดูภาพเขียน เราจะไม่เข้าใจเลยว่าคนวาดคิดอะไร เราก็คิดอ่านเอาเรื่องจากภาพนั้นเอง เราเห็นรูปวัตถุโน่นนี่วางเรียงทับซ้อน บังกันเกาะกลุ่มกันตามความคิดของผู้วาด เราจะไม่เข้าใจถ้าไม่มีคำอธิบาย บางภาพพอมองได้ว่าผู้วาดมีแนวคิดเหนือจริงซึ่งต่างจากภาพทิวทัศน์เหมือนจริงทั่วไป บางภาพอาจเข้าใจยากต้องการคำอธิบาย บางภาพอาจเป็นความประทับใจส่วนตัวของผู้วาด บ้างเป็นความเชื่อหรืออื่นๆ แต่ก็มีบางภาพที่ดูแล้วไม่เข้าใจเนื้อหา แต่ทำไมเราจึงสนใจภาพนั้น ตรงนี้คือข้อสังเกต อาจเป็นเพราะว่ารูปทรงนั้นมีความงามตรงตามจริตของเรา
ในแง่นี้มีเรื่องให้พิจารณาคือภาพที่ไม่เข้าใจเนื้อหา แต่เขาวาดรูปทรงต่างๆ ดูลึก มีบางอย่างเชิญชวนตั้งคำถาม สร้างความรู้สึกชวนหลงใหล เขียนน้ำลึก ต้นไม้ยืนตายซาก หรืออะไรอื่นๆ ในมุมที่เราไม่ใส่ใจเนื้อหา ก็มองเพียงภาพรวมว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร รูปแบบศิลปะจะดูซับซ้อนหนักแน่นหรือบางเบาสวยใสก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนทำ คนทำชอบเรียบง่าย ลักษณะงานจะอยู่ฝ่ายมินิมอล ไม่ใส่ใจเนื้อหาเรื่องราว สัมผัสเพียงความเรียบง่ายของรูปทรงสีสันหรือส่วน ประกอบอื่นๆ ที่รวมกันอยู่ในภาพ
ศิลปะเข้าใจยาก (จัง)
วันนี้มีเพื่อนส่งภาพเขียนพุทธรูปปางห้ามญาติมาทางไลน์ ช่วงหน้าอกของพระพุทธเป็นรูปลิ้นชัก ที่เศียรพระถูกพันด้วยเทปกาว ด้านหลังเป็นภาพหญิงสาวเปลือยนั่งบนโทรศัพท์มือถือที่รองรับด้วยใบบัว ส่วนบนหัวของหญิงสาวที่เห็นทางด้านหลังเป็นแจกันปักด้วยฝักบัวแห้งและผีเสื้อที่กำลังกระพือปีก ด้านหน้าหญิงสาวมีกลีบบัวสัตตบุษย์กระจัดกระจาย เพื่อนส่งมาให้ดูพร้อมแสดงความเห็นว่าดูแล้วไม่เข้าใจว่ารูปต้องการสื่ออะไรและ ศิลปะเข้าใจยาก
ใช่, ศิลปะเข้าใจยาก ถ้าหากจะอ่านเอาเนื้อหา ในทางกลับกันถ้าเรารู้ดูองค์ประกอบอย่างอื่นก่อน ไม่คาดคั้นหาความเข้าใจว่าตรงกับคนทำต้องการสื่อหรือไม่ ก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะเข้าใจโต้ตอบภาพนั้นอย่างไร
การพยายามหาความหมายจากภาพเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะประสบการณ์ของมนุษย์ต่างกัน (การสำลักน้ำสำหรับบางคนคือความสนุกสนาน กับอีกคนอาจหมายถึงความเป็นความตาย สำลักน้ำกินน้ำไปหลายอึกเกือบใจขาดตาย) จึงไม่น่าให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่าส่วนประกอบอย่างอื่นด้วย เว้นเสียแต่ว่าทั้งคนวาดและคนดูมีประสบการณ์ร่วมกันหรือคล้ายกัน รวมทั้งผู้วาดมีทักษะล้ำเลิศในการนำเสนอเนื้อหานั้นๆ ได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง
ในขั้นต้นสำหรับการประเมินงานศิลปะจึงคิดว่าให้ตัวเราเป็นที่ตั้ง แล้วความรู้ความเข้าใจในหลักการสำคัญ จะทำให้เราตอบได้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบเพราะอะไร และสามารถชี้ให้เห็นความงามไม่งามในทัศนะของตัวเองได้ วิธีนี้น่าจะดีกว่าคำว่าชอบหรือไม่ชอบซึ่งไม่ได้ช่วยให้คนอยากพัฒนาทักษะเห็นกระบวนการใดๆ
เคยได้ยินไหม ศิลปินรุ่นใหญ่เขาบอกว่า ใครๆ ก็ชอบฟังเสียงน้ำตกนกร้อง แล้วก็ไม่มีใครสักคนที่ไปพยายามถามหาความหมายคำที่นกร้องออกมาหรือเสียงน้ำไหลๆ ไปเป็นเสียงยังไง อย่าไปเข้าใจเลยว่าศิลปินสื่อสารอะไร ก็เหมือนศิลปินรุ่นใหญ่บางคนเขายังบอกเลยว่าเขาเขียนรูปเหมือนกำลังกินอ้อยบดเคี่ยวเอาน้ำหวาน
เมื่องานเสร็จ ผลงานก็แค่ชานอ้อย ใครจะเห็นค่าไม่เห็นค่าก็ช่างใคร นานาจิตตัง
เมื่ออยากเดินต่อวิเคราะห์งานตัวเองได้ ก็จำเป็นต้องอ่านต้องลงมือให้มาก ประสบสุนทรียะจะบอกเราเอง เราจะประเมินตัวเองได้ว่าสิ่งที่เราทำสมควรเป็น art object แค่ไหน ใครจะรู้ดีเท่าคนทำ อ่านมากเห็นมากทำให้แนวคิดแข็งแรง แนวคิดจะเป็นตัวนำทางให้คำตอบตัวเอง
เบื่อสนามสมัครเล่นอยากเป็นอื่นแล้ว ก็ใจร่มๆ ฟังคำขมๆ ดูบ้าง เขียนรูปมานาน เลียนแบบมาเยอะจากหลายสำนัก เขียนตามคำบอกของครูจนรู้หมดแล้ว ยังรู้สึกไม่ใช่ตัวเอง ถ้ายังอยากจะฟังแต่เสียงยกยอปอปั้นมันก็ไม่เกิดประโยชน์ในแง่พัฒนา ต้องฝึกเท่านั้น แม้มีความรู้ความในใจล้นทะลักก็เขียนไม่ได้ ถ้าขาดทักษะ เหมือนคนรู้ทฤษฎีว่ายน้ำ รู้แจ้งแทงตลอด ท่าฟรีสไตล์ ท่ากบท่าผีเสื้อ แต่ลงสระลงทะเลว่ายได้ไม่ถึงสิบวา จม หอบ เลิก กลับเข้าฝั่ง
ระหว่างทางฝึกฝน เป็นลูกผีลูกคนอยู่ ไม่มีใครล้มเหลวสักคน ถ้าอดทนทำต่อ ใจแข็งขันยืนยันเท่านั้นสร้างปีกให้เราบินได้อย่างอิสระ จนรู้จักตัวเอง เราเป็นทุกข์หรือเราเห็นทุกข์ มีมากมายหลายรูปแบบในการทำงานของศิลปิน บางคนถ่ายทอดทุกข์ร้อนของตัวเอง บางคนมองแล้วเห็นทุกข์ร้อนที่มีอยู่ในโลกนี้ อยู่ที่เราเลือกและรู้ตัวเอง
ถ้าวาดถ้าเขียนหลุดโลกมากๆ คนรอบข้างก็ไม่เข้าใจ จะเอาแต่เขียนลายรดน้ำหรือแสดงงานเพอร์ฟอร์มหลุดๆรั่วๆ เราก็จะเจอคำพูดเชิงตำหนิแบบนี้แหละ ศิลปะไม่น่าสนใจ ไร้เหตุผล ดูลิเกยังใกล้ชิดชีวิตคนมากกว่า
จะอย่างไรก็ตาม ถ้าการวาดการเขียนเกิดจากความรักที่อยากจะทำอยากพัฒนา ขอให้ทุกคนที่ลุกขึ้นมาทำได้ค้นพบพลังบวกจากงานนามธรรมนั้น เพื่อสร้างความเบิกบานให้ชีวิตอิสระ.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’