Dear Worapoj
You alright, mate. ขอขึ้นต้นทักทายพี่หนึ่งทางจดหมายแบบนี้ เพราะเดี๋ยวนี้คุยกับใครผมก็มักเรียกชื่อแทนที่คู่สนทนาด้วยคำว่า “เมท” แทนที่จะเป็นคำอื่นในภาษาอังกฤษที่ผมเคยใช้มาอาทิ dude, bro, my friend
ที่เป็นอย่างนี้ส่วนหนึ่งก็ด้วยอิทธิพลทางการสื่อสารที่ผมเรียนรู้และซึมซับเอามาจากเพื่อนๆ ชาวอังกฤษไม่กี่คนที่วนเวียนและข้องเกี่ยวบนเกาะ มันคงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องพยายาม (โดยไม่ตั้งใจ) สื่อสารอย่างที่คนในกลุ่มเค้าสื่อสารกัน การที่เราใช้เวลาจำนวนหนึ่งอยู่กับผู้คนจำพวกนึง เราจึงซึมซับอะไรหลายๆ อย่างไปไว้ในตัวตน น้ำเสียง และทัศนคติโดยไม่รู้ตัว
การเปลี่ยนแปลงในน้ำเสียงและคำที่เลือกใช้ ทำให้ผมนึกขึ้นได้ถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนก่อนที่แคเรนเอ่ยออกมาในวงสนทนาว่า เธอหงุดหงิดที่เซเฟอร์พูดภาษาอังกฤษในสำเนียงอื่นที่ไม่ใช่เสียงของตัวเอง อาทิ สำเนียงอเมริกัน หรือสำเนียงไทย เธอพูดกับครูประจำชั้นที่บังเอิญมาทานข้าวเย็นด้วยกันในวันนั้นพอดีว่า “ถ้าเมื่อไรนายได้ยินเซฟพูดแบบนั้น รบกวนช่วยตบหัวเจ้าลูกชาย และสั่งสอนมันด้วย” (ฮา)
ผมฟังแล้วก็นึกฉงนว่าทำไมการพูดสำเนียงที่ต่างออกไปถึงทำให้แคเรนหัวเสียได้ขนาดนี้ สองสามวันถัดมาผมถามเธอว่าแล้วเธออยากให้ลูกชายพูดแบบไหนล่ะ ต้องพูดสำเนียง RP (received pronunciation) เหรอ เธอหันมายิ้มก่อนตอบว่าใครกันจะพูดสำเนียงแบบนี้ จะมีก็แต่คนชั้นสูงและพวก (อยากจะเป็น) คนชั้นสูงเท่านั้นแหละที่พูด แม้แต่ในรายการข่าวผู้คนก็ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องสำเนียงอะไรแบบนี้แล้ว ที่เธอจะสื่อในเรื่องสำเนียงของเซเฟอร์ก็คือเธอต้องการให้ลูกชายยืนหยัดและมั่นใจที่จะพูดในแบบที่ตัวเองเป็น ไม่ใช่การพูดเลียนแบบเพื่อนคนอื่นๆ ในโรงเรียนเพื่อสมาทานให้เข้ากลุ่ม
เธอต้องการให้ตัวตนของเซเฟอร์ที่แท้นั้นสำแดงหรือยืนยันผ่านสำเนียงของเขาเอง ซึ่งผมเองก็พอเข้าใจ ในบรรดาเด็กอังกฤษในวัยเดียวกับเขา ต้องถือว่าเซเฟอร์พูดภาษาอังกฤษได้เพราะและฟังง่ายที่สุด ปีที่แล้วที่มีโอกาสขับรถไปส่งเขาที่โรงเรียนพร้อมกับศิลป์หลายครั้ง ผมกับหลินก็ถือโอกาสให้เซเฟอร์ช่วยสอนการออกเสียงคำต่างๆ ในภาษาอังกฤษอยู่พอสมควร
ยังจำได้เลยว่าฝึกออกเสียงตัว R ซึ่งแตกต่างกับตัว L จนเด็กตัวน้อยสองคน (เจ้าศิลป์ด้วย) หัวเราะท้องแข็งในความลิ้นแข็งของเพื่อนชาวไทยต่างวัยคนนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ใครต่อใครที่ผมรู้จักก็มักจะชื่นชมทักษะทางภาษาของเซเฟอร์ที่ดูโตเกินวัย
ว่าไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ความมั่นใจของแคเรนที่มีต่อลูกชายในเรื่องภาษาจึงสั่นคลอนเวลาเห็นลูกพูดแปลกแปร่ง ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมตะวันตก ตัวตนหรือความเป็นตัวของตัวเองนั้นคงจะสำคัญมาก การปราศจากซึ่งความมั่นคงหรือมั่นใจในตัวเองอาจหมายถึงการไม่บรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะประคับประคองดูแลตัวเองหรือคนรักให้มีชีวิตรอด
ผมเองก็เคยดุลูกชายไม่ให้พูดภาษาไทยในน้ำเสียงเพื่อนคนอื่นที่ฟังแล้วแปลกแปร่งและดูไม่เข้าท่า แต่พอเป็นภาษาอังกฤษซึ่งไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ ผมกลับไม่มีปัญหานั้น ลูกจะพูดสำเนียง (เหี้ย) อะไรก็ได้ ขอให้คู่สนทนาฟังเข้าใจก็เป็นพอ จะยกเว้นก็แต่ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยที่ฟังแล้วจั๊กกะจี๋ และดูเหมือนเป็นการล้อเลียนคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง อันนี้ผมเตือนลูกชายตลอด แม้ว่าบางทีตัวพ่อมันเองก็เผลอไผล (เผลอจริงๆ ไม่ใช่พูดเพื่อกวนตีนหรือล้อเลียนใคร) พูดแบบนั้นออกมาบ้างเหมือนกัน (ฮา)
พ้นจากเรื่องสำเนียงการพูด ไม่กี่สัปดาห์ถัดมา เซเฟอร์ถูกอัปเปหิออกจากทีมฟุตบอล U8 ให้ลงไปเล่นในกับ U7 แทนด้วยเหตุผลของโค้ชรันว่าเซเฟอร์ไม่เข้าใจเกมและเล่นได้ไม่ดีพอกับมาตฐานของทีม แคเรนหัวเสียกึ่งเสียใจอีกครั้ง เธอเองเล่นกีฬาอย่างจริงจังมาตั้งแต่เด็ก พ่อของเธอก็เล่นฟุตบอลอย่างจริงจังจนเกือบจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ การที่ลูกชายทำผลงานการกีฬาได้ย่ำแย่นั้นสร้างความทุกข์และกระสับกระส่าย (frustration) ให้เธอเสมอ
หลายครั้งที่นั่งดูเซเฟอร์ซ้อมกับเพื่อนๆ คนอื่น เธอมักนั่งบ่นพึมพำ คิ้วขมวด หรือบางทีก็ตะโกนเตือนเซเฟอร์ดังๆ ให้ตั้งใจและเอาดีให้ดีกับเกมลูกหนัง เซเฟอร์เองดูจะพอใจกับการซ้อมฟุตบอลในมิติอื่น อาทิ การได้สรวลเสเฮฮาหยอกล้อกับเพื่อนวัยเดียวกันในสนาม แคเรนบอกว่าเซเฟอร์เทรนกับโค้ชมาเกือบสี่ปี ถ้าจะบอกว่าลูกชายเธอทำได้ไม่ดี คนที่ควรจะถูกชี้นิ้วตำหนิให้นั้นน่าจะเป็นบรรดาสตาฟโค้ชมากกว่าตัวเด็ก
ผมรับฟังและพยักหน้าเชิงเห็นใจ แต่มิได้เห็นด้วย ดีนผู้เป็นพ่อก็บอกว่าเขาเข้าใจการตัดสินใจของโค้ชรัน นอกจากเซเฟอร์เองก็อาจมีเด็กอีกบางคนในทีมที่สมควรถูกดรอปออกจากทีม เขาให้เหตุผลว่าเซฟไม่เคยสนใจในฟุตบอลเลย กลับมาบ้านทีไรก็ไม่เห็นจะไปวิ่งเล่นเตะฟุตบอลในสนามที่เขาอุตส่าห์เตรียมและทำโกลไว้ให้ซ้อม
ดีนเชื่อในเรื่องความกระหาย (Passion) ปราศจากสิ่งนี้แล้วมันออกจะไร้ประโยชน์ที่จะฝืนทำอะไรในเรื่องนั้นๆ คราวนี้ผมพยักหน้าเห็นด้วยแล้วเสริมว่าถ้ามองในแง่ดี (Look at the bright side of it) นี่อาจเป็นเวลาให้เซเฟอร์และผู้ปกครองของเขาได้ไตร่ตรองดูอีกที ว่าเด็กชายชาวอังกฤษคนนี้อยากทำหรือเรียนรู้อะไรอย่างอื่นอีกบ้าง ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน
เท่าที่เห็น นอกจากเซเฟอร์จะชอบสังสรรค์และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทุกเพศทุกวัยแล้ว เขายังชอบร้องรำทำเพลง ฮัมเพลงให้เราฟังแต่ละที หลินก็มักสะกิดให้ผมหัดเงี่ยหูฟัง และเรียนรู้ว่าควรจะทำให้มีจังหวะจะโคนและท่องทำนองอย่างเพื่อนวัยเยาว์คนนี้
เหตุการณ์น่าเศร้าอาจแปรเปลี่ยนไปสู่ความสดใหม่ และสว่างไหวในหัวใจของผู้ที่กล้าจะเผชิญหน้ากับความจริงของโลกและความจริงในหัวใจของตัวเอง
Take care mate
Jok
ปล. ชื่อกลางของเซเฟอร์คือฟีนิกซ์ (Phoenix) ซึ่งคือนกในตำนานที่เกิดใหม่ได้เสมอ ลงว่าพ่อแม่ตั้งชื่อให้แบบนี้ เรื่องขี้ปะติ๋วอย่างนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรกับพวกเขาหรอก แต่ที่น่าเสียดายที่สุดก็คือเวลาที่เซเฟอร์กับศิลป์จะได้พบกันนั้นยิ่งน้อยลงไปอีก ตั้งแต่พวกเราย้ายบ้านจากมา ศิลป์กับเซฟก็มีโอกาสได้พบกันน้อยลง การซ้อมบอลทีมเดียวกันนั้นยังพอทำให้พวกเขาพบกันบ้าง ศิลป์บ่นอุบที่เซฟต้องหลุดจากทีมไป ไม่กี่วันก่อนตอนที่น้ำฝนล้นจากหลังคาสู่ฝ้าแล้วหยดนองไปทั่วพื้นในบ้านและเปียกชุ่มฟูกที่นอน แทนที่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนจะอยู่นอนพื้นและทำความสะอาดบ้านกับพ่อและแม่ ศิลป์ขอไปนอนค้างบ้านเซเฟอร์ให้คลายคิดถึงซะเลย ได้ข่าวว่าวันรุ่งขึ้นเซเฟอร์บ่นอุบเช่นกันว่าโดนเพื่อนซี้ชาวไทยที่นอนดิ้นละเมอเตะท้องและปากเขาไปหลายป๊าบอยู่ เซเฟอร์จึงตอบโต้ด้วยการเตะกลับไปแบบปราศจากการละเมอเพื่อความเท่าเทียม –ดูทรง เขาทั้งสองน่าจะหายคิดถึงกันไปพักใหญ่ๆ (ฮา)
ตอบ จ๊อก
วิชาชีวิตจากหลายสำนักที่เขาสอนกันมานาน ประกอบด้วยหนังสือ ภาพยนตร์ และการเดินทาง ว่ากันว่า สามปัจจัยนี้แหละที่จะเป็นบันไดพากุลบุตรกุลธิดาไปสู่การมีชีวิตที่ดี
บางคนเติมกีฬาเข้าไปอีกอย่าง หรือดนตรีกับอีกบางคน ถนน กีฬา และกีตาร์ เออ มันก็เข้าท่า แต่ถ้าให้นึกตอนนี้เราว่าสิ่งที่น่าเติมมากๆ คือภาษา ทุกสิ่งที่ว่ามาคือทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา และการเดินทาง จะคล่องขึ้น ถ้าภาษาดี คำว่า ‘ภาษาดี’ มากบ้างน้อยบ้างมันคงหนีภาษาอังกฤษยาก โลกเราสร้างมาแบบนั้น พลเมืองสากลพยักหน้ายอมรับ เช่นนี้แล้ว การที่คุณหอบลูกจูงเมียไปอยู่พะงัน มันจึงเป็นการตัดสินใจที่จ๊าบจริงๆ วัยเยาว์ของเจ้าศิลป์ได้โอกาสดีในการเพาะสร้างสรรพวิชา ของแบบนี้ยิ่งได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี วิสัยทัศน์คนเป็นพ่อแม่มีความหมายมาก (เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศซึ่งซวยฉิบหาย เราเกิดมาในยุคสมัยที่มันไม่มีสิ่งนี้ –เพราะไม่มีนี่แหละมั้ง เราจึงอาจต้องยอมออกแรงเยอะๆ เพื่อทำให้มันมี)
ที่น่าน ห้องสมุดที่เคยมีแต่ภาษาไทย ตอนนี้มุมหนังสืออินเตอร์สำเร็จเป็นรูปร่างแล้ว ฝีมือช่างจบขวัญใจคนเดิม (สล่าคู่บุญและบาปครูต้อม) หนังสือล็อตแรกฟังว่าได้มาจากมูลนิธิกระจกเงา ถัดจากนี้ก็จะทยอยสื่อสาร รับบริจาค ญาติมิตรคนใดมีใจส่งต่อหนังสือเก่าใหม่ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ยินดีรับเลี้ยงดูแล ไม่จำกัดประเภท (แต่ถ้าเป็นพวกงานสัมภาษณ์ หรือ biography ก็ยินดียิ่ง)
เมื่อวาน พลิกอ่าน Leading วิธีคิดของ Alex Ferguson น่าสนใจหลายอย่าง เช่น My job was to make everyone understand that the impossible was possible. That ’s the difference between leadership and management. อ้าว ลืมไปว่าคุณแฟนลิ้วพูล ฟังคำท่านเซอร์ผีแดงแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจแสลงหู –ขออภัยๆ
ในทางกายภาพ มุมหนังสือใช้พื้นที่นิดเดียว (ในมุมคนจ่ายตังค์ รวมโน่นนี่นั่นแล้วก็คงบอกว่าหลายหมื่น) แต่อำนาจมันเยอะ แขกที่มาเยือนเริ่มจับจอง นั่งมุมนี้ยาวๆ เขียนรูปทำโปสต์การ์ดบ้าง อ่านหนังสือบ้าง และบางใครก็ใช้มันเป็นสะพาน เปิดตัวเองสู่สัมพันธภาพใหม่ๆ แค่ Hi คำเดียว และยิ้มน้อยๆ บางทีมันเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างเรื่องเล่าอีกมหาศาล อย่างที่คุณรู้ สักพักใหญ่ๆ แล้วที่เราสถาปนาตัวเองไว้ในสถานะนักเรียน การเจอชาวต่างชาติตัวเป็นๆ จึงเป็นคลาสพิเศษ เป็นแบบฝึกหัดใหม่ๆ ขยายผลจากจอคอมพ์ ดูยูทูบไม่เข้าใจ จะเปิดดิกฯ หรือฟังซ้ำกี่ครั้งก็ได้ แต่กับคนเป็นๆ ถามว่าถามซ้ำได้มั้ย ได้สิ แต่ถามซ้ำตลอด คู่สนทนาก็เซ็ง (และไปดีกว่า) ฟังทัน ไม่ทัน ก็ต้องปรับไวๆ ฝึกหนักๆ เอาให้รู้เรื่องให้ได้ การได้พูดจริงมันเหมือนไฟต์บังคับ คล้ายกระโดดลงแม่น้ำ ลงแล้วต้องพยายามว่ายกลับขึ้นฝั่งให้รอด
อย่าถามถึงความถูกต้องและสำเนียง ไม่รู้โว้ย แค่เอาให้รอดก่อน ‘ในใจ’ ทำอะไรแล้วก็ปรารถนาทำให้มันถูกมันดีนั่นแหละ แต่ ‘ในจริง’ เราทำได้หรือเปล่า ก็ค่อยว่ากันไป ให้ประเมินผลงานตัวเอง ก็คิดว่าพอถูไถ ดิ้นรนเอาตัวรอดและยังพอคลำทางหาฝั่งเจอ ข้อดีของห้องสมุดและเกสต์เฮาส์ มันเอื้อให้คนคุยกันง่าย และข้อดีของเมืองเล็ก ไม่รีบร้อน มันคล้ายว่าทุกคนรอคอยได้ เราจะพูดช้า พูดผิดไวยากรณ์ ใครจะแคร์ นึกออกเนาะ เอาว่าถ้ามึงหน้าด้านพูด กูก็ยอมพยายามฟัง
ที่เห็นและเป็นไปมันจึงเป็นบรรยากาศนานาชาติสมประสงค์ บางวงบางคืนเป็นความทรงจำที่ดี บางคนมอบหนังสือที่ติดตัวมาอ่านทิ้งให้เป็นที่ระลึก บางคนขอแลกที่อยู่ บอกกลับบ้านจะส่งมากำนัลเพิ่ม (หลายคนคุยว่าบ้านเขามีหนังสือมากกว่าห้องสมุดที่นี่ เขาและเธอที่ว่าไม่ใช่นักวิชาการ หรือครูบาอาจารย์ แค่เป็นคนปกติ ความปกติของสังคมยุโรปที่ชอบอ่าน) บ่อยครั้งขึ้นทุกทีที่แขกที่นี่เป็นฝรั่งหมด อย่างวันนี้ที่นั่งกันอยู่ก็สวิส อิตาเลียน ฝรั่งเศส ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามาคงยังเทียบเคียงอะไรไม่ได้หรอกกับพะงัน แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ
เรื่องเยอะอยู่ (ในฉากและชีวิตที่ห้องสมุดเล็กๆ ห่างไกลเมืองหลวง) เช่นเดียวกับมิตรภาพใหม่ๆ ไว้จะค่อยรวบรวม เรียบเรียงมาเล่าให้ฟัง.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน ทุกสัปดาห์เขาเขียนจดหมายมาคุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ nan dialogue