1.
ลองพิจารณาเรื่องราวต่อไปนี้สิครับ
“โบโกตา” ของโคลัมเบียเป็นเมืองหลวงที่มีชื่อเรื่องการลักพาตัวและลอบสังหาร บนท้องถนนเต็มไปด้วยควันพิษและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ นี่เป็นเมืองที่เลวร้ายต่อคุณภาพชีวิตเมืองหนึ่งของโลก
แต่แล้ววันหนึ่งโบโกตามีนายกเทศมนตรีชื่อ “เอ็นริเก้ เปญาโลซ่า”
วันที่เปญาโลซ่าลงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี เขาประกาศว่า เขาไม่อาจทำให้ทุกคนร่ำรวยเหมือนคนอเมริกัน แต่เขาและชาวเมืองทุกคนสามารถออกแบบเมืองที่จะทำให้คนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เมืองที่ทำให้คนรู้สึกร่ำรวย เมืองที่ทำให้คนมีความสุขมากกว่าเดิม
“คนต้องการอะไรเพื่อที่จะมีความสุข” เปญาโรซ่าถาม เขาทั้งถามตัวเองและถามคนทั้งเมือง
“เราต้องการเดินเหมือนที่นกต้องการบิน เราต้องการแวดล้อมด้วยผู้คน เราต้องการความงาม เราต้องการสัมผัสธรรมชาติ สำคัญที่สุดเราไม่ต้องการถูกกีดกัน เราต้องการรู้สึกถึงความเท่าเทียมในทางใดทางหนึ่ง” เขาตอบ
เมื่อได้รับเลือกตั้ง สิ่งที่เปญาโลซ่าทำคือยกเลิกแผนขยายทางหลวงขนาดใหญ่ ทุ่มงบประมาณไปกับทางจักรยาน สวนสาธารณะ ลานคนเดิน เครือข่ายห้องสมุด ทั้งยังสร้างระบบขนส่งมวลชนด่วน ขึ้นภาษีน้ำมัน ออกกฎห้ามใช้รถยนต์มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ เขาบอกว่า “นี่เป็นโครงการออกแบบประสบการณ์ชีวิตเมืองของคนหลายล้านคนใหม่”
หลังจากอยู่ในตำแหน่งได้ 3 ปี เปญาโลซ่ายังท้าทายชาวเมืองด้วยการกำหนดให้มีวันปลอดรถยนต์ส่วนตัว วันนั้นรถส่วนตัวทุกคันจอดสนิท แต่คนมากมายก็ทดลองทำตามเปญาโลซ่าด้วยการเดิน ปั่นจักรยาน ไถโรลเลอร์เบรดไปโรงเรียนหรือไปทำงาน และนั่นเป็นวันแรกในรอบ 4 ปีที่อากาศเสียเบาบางลง ทั้งไม่มีใครเสียชีวิตจากท้องถนน ทุกคนยังใช้ชีวิตกันได้ ชาวโบโกตาชอบวันนี้มากจนลงคะแนนให้จัดทุกปี และสนับสนุนให้มีกฎหมายห้ามรถยนต์ส่วนตัววิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนทุกวัน ผู้คนบอกว่าพวกเขามองชีวิตเมืองในแง่บวกมากกว่าที่เคย
นี่คือเรื่องราวคร่าวๆ ที่ปรากฏในบทที่หนึ่งของหนังสือ “Happy City เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง” ผลงานสารคดีของนักข่าวผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองมือรางวัลนาม ชาร์ลส์ มอนต์โกเมอรี (Charles Montgomery)
มอนต์โกเมอรีบอกกล่าวเรื่องราวของเปญาโลซ่าไว้มากกว่านี้ แต่แค่นี้ก็ทำให้หนังสือของเขาเอาเราอยู่ตั้งแต่ 5 หน้าแรก เรื่องราวของเปญาโลซ่านั้นพูดแทนเราจำนวนมาก มันทำให้เรากล้าที่จะเชื่อว่าเมืองแต่ละเมืองไม่ว่าจะซุกปัญหาไว้มากแค่ไหน หากจริงใจและตั้งใจก็เป็นไปได้ที่จะทำให้มันดีขึ้น
ส่วนทำไมต้องทำ และทำอะไรได้บ้างนั้น ในบทต่อๆ ไปมอนต์โกเมอรีเสนอคำตอบไว้ให้อย่างลงรายละเอียด
2.
ด้วยความที่ ‘เมือง’ เกี่ยวข้องกับคนและกิจกรรมทุกประเภท หนังสือเล่มนี้จึงเกี่ยวข้องกับศาสตร์ทุกศาสตร์ นั่นทำให้ไม่สามารถอ่านแบบข้ามๆ ได้เลย ข้ามแล้วเสียดายสิ่งที่ผู้เขียนพูดถึง โชคดีที่เขียนโดยคนข่าวซึ่งคุ้นเคยกับการถ่ายทอดเรื่องราวให้คนหมู่มากอ่าน เรื่องยากๆ จึงไม่ยาก มอนต์โกเมอรีเล่าถึงเปญาโลซ่าด้วยการไปปั่นจักรยานตามหลังเปญาโลซ่า พูดถึงด้านมืดของตลาดบ้านหลุดจำนองด้วยการเดินตามนายหน้าขายบ้านหลุดจำนอง พูดถึงชนชั้นกลางที่มีบ้านชานเมืองหลังใหญ่ แต่ไม่เคยมีความสุขกับการขับรถไปกลับวันละ 5 ชั่วโมงด้วยการนั่งรถไปกับพวกเขา ฯลฯ แม้บริบทส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในแคนาดาและอเมริกาแต่ทุกเรื่องที่ว่ามาเราต่อติด เนื่องจากมันไม่ต่างกันเลยกับสิ่งที่หลายชีวิตต้องเจอในเมืองอื่นๆ
เราต้องออกแบบเมือง มิฉะนั้นเมืองจะออกแบบเรา คือก้อนผลึกที่หนังสือเล่มนี้ทิ้งไว้ให้หลังจากอ่านจบ
จริง และก็ไม่ง่าย ถ้าไม่มีใครกล้าทำอะไรที่ต่าง เมืองก็จะตกอยู่ใต้การตัดสินใจของนักผังเมือง วิศวกร นักการเมือง สถาปนิก นักการตลาด นักเก็งกำไรที่ดิน ฯลฯ ซึ่งมอนต์โกโมรียืนยันว่า เมืองหลายเมืองเป็นผลงานจากความผิดพลาดของคนแปลกหน้าที่มีอำนาจเหล่านี้ ชีวิตเราจะถูกกำหนดโดยพวกเขา
เราในนามคนตัวเล็กอาจไม่สามารถคัดคานผู้คนเหล่านี้ได้ แต่เราสามารถมอบความไว้วางใจให้นักการเมืองตาสว่างอย่างปิญาโลซ่า หรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนวิถีตัวเองเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ในหนังสือนั้นมีตัวอย่างของคนเมืองบางคนที่ยอมโดนลดเงินเดือน 20 % เพื่อแลกกับการทำงานแค่ 4 วัน เนื่องจากเขาคำนวณแล้วว่าค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นซึ่งเท่ากับ 20 % ของเงินที่หายไปนั้นมีค่าน้อยกว่าเวลาอีกหนึ่งวันที่มีให้กับครอบครัว
ทั้งนี้ การกล้าตัดสินใจเปลี่ยนวิถีตนเองอาจต้องอาศัยประสบการณ์การเคยทุกข์ตรมกับปัญหา หรือเข้าใจโครสร้างที่แท้ของเมืองเสียก่อน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากเรื่องราวของปิญาโลซ่าแล้วหนังสือยังเสนออีกอย่างน้อย 2 ประเด็นทีมีประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดที่ทางให้ตัวเราเองหากยังอยากอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ 2 ประเด็นนี้เกี่ยวกันอย่างแน่นแฟ้น
หนึ่ง เมืองนั้นถูกกระชากด้วยธุรกิจรถยนต์
เราต่างเคยได้ยินว่าถนนถึงไหน เมืองถึงนั้น แต่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่ารถยนต์ต่างหากที่ทำให้เมืองเปลี่ยนไป มอนต์โกโมรีชี้ว่าในประวัติศาสตร์เมืองส่วนใหญ่ ถนนในเมืองสร้างขึ้นเพื่อทุกคนและใครๆ ก็ใช้ถนนได้ ใช้เป็นตลาด สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ และทางสัญจรที่เกลื่อนด้วยรถม้า สภาพเช่นนี้โกลาหลสักนิดแต่ก็เต็มด้วยชีวิตชีวา ทว่าเมื่อรถยนต์เริ่มเข้ามาหลังจาก เฮนรี่ ฟอร์ด ประสบความสำเร็จในสายพานการผลิต ถนนก็เปลี่ยนไปและเมืองก็เริ่มเปลี่ยนตามเพราะผู้ขับขี่รถยนต์ ร่วมกับผู้ค้า และผู้ผลิตรถยนต์ได้สร้างสงครามความคิด เรียกร้องให้นิยามถนนในเมืองเสียใหม่
พวกเขาต้องการสิทธิที่จะขับรถได้เร็วขึ้น ต้องการพื้นที่เพิ่ม ต้องการคนเดินถนน คนปั่นจักรยาน หรือคนใช้รถรางไปให้พ้นทาง พวกเขาประสบความสำเร็จแม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1920 หลังจากมีรถยนต์ไม่นาน มีคนในอเมริกากว่า 20,000 คน เสียชีวิตเพราะรถยนต์ ความสำเร็จนี้ยังคงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แม้ว่ารถยนต์จะเป็นต้นเหตุสำคัญของมลภาวะ การเสียชีวิต และการเอาพื้นที่สาธารณะไปทำถนน
นอกจากนี้รถยนต์ยังถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความเร็ว และความเร็วก็เป็นเครื่องหมายของเสรีภาพ
หากต้องการเสรีภาพ ผู้คนจึงถูกกระตุ้นให้มีบ้านหลังใหญ่ชานเมือง การมีรถยนต์ทำให้คนมากมายขับรถข้ามเมืองไปทำงานได้ทุกเช้า แต่สิ่งนี้เป็นไปตามที่โทรทัศน์สร้างภาพให้เราคิดฝันหรือเปล่า
น่าสนใจอย่างยิ่งที่การศึกษาของมอนต์โกโมรีพบว่าหาใช่เป็นเช่นนั้นเสมอ
สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สองซึ่งว่าด้วยเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข
3.
นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อกลไกตลาดทำให้เราเชื่อมาตลอดว่าถ้าจะดูว่าคนเรามีความสุขหรือไม่ ให้สังเกตการใช้จ่าย การที่คนซื้อบ้านเดี่ยวตามชานเมืองกันนั้นแสดงว่าพวกเขากำลังมีความสุข เนื่องจากบ้านแบบนี้เติมเต็มความเป็นส่วนตัว เดินทางสะดวก ห่างไกลความแออัด
แต่ในความเป็นจริงสูตรนี้ใช้ไม่ได้ตลอด มอนต์โกโมรีเปิดเผยว่านักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกกลุ่มหนึ่งสังเกตเห็นปรากฏการณ์นี้ จึงได้ศึกษาอย่างจริงจังโดยตั้งคำถามว่า เมื่อเราครอบครองมากขึ้น อยู่บ้านหลังใหญ่ แต่แท้จริงแล้วเรามีความสุขมากขึ้นไหม ?
สิ่งที่ค้นพบหลายอย่างตรงข้ามกับความน่าจะเป็น
ในแง่ความปลอดภัย คนเคยคิดว่าบ้านชานเมืองปลอดอันตรายจากคนแปลกหน้าเนื่องจากอยู่ไกล มียาม มีรั้วกั้น ทว่าเป้าหมายนี้ล้มเหลวในหลายพื้นที่ ทุกวันนี้อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนในอเมริกาอยู่ที่ราว 40,000 คนต่อปี ซึ่งเท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่มีผู้โดยสารเต็มตกทุก 3 วัน สาเหตุเพราะบ้านชานเมืองบังคับให้คนต้องขับรถไกลขึ้น เมื่อมีบ้านใหญ่ขึ้นก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษามันไว้ นั่นทำให้พวกเขาคร่าชีวิตคนที่ไม่รู้จักจำนวนมาก มากกว่าการเสียชีวิตด้วยอาวุธอื่นด้วยซ้ำ
ที่น่าสนใจคือได้มีการแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มที่จอดรถริมทางและต้นไม้บนเกาะกลางลงบนถนนกว้างๆ แถบชานเมือง เนื่องจากนักวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขับรถตามป้ายจำกัดความเร็ว แต่เร่งความเร็วตามความรู้สึกว่าถนนนั้นปลอดภัยจนกลายเป็นต้นตอของอุบัติเหตุ ผลก็คือเมื่อมีสิ่งกวนสวยตา ผู้คนกลับขับรถช้าลง และระมัดระวังจนการเสียชีวิตลดลงฮวบฮาบ กลายเป็นว่าถนนที่มีชีวิตชีวาต่างหากที่ปลอดภัย
อีกสิ่งที่เราอาจเคยรู้สึก แต่ไม่รู้จะบอกอย่างไรให้สมเหตุสมผล แต่หนังสือเล่มนี้พูดถึงและอธิบายได้ดีคือสิ่งที่จำกัดความสั้นๆ ว่าเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข
นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งได้ศึกษาประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างลงลึกไปอีกซึ่งเขาพบว่า ความสัมพันธ์กับผู้อื่นส่งผลดีต่อความพึงพอใจในชีวิตมากกว่ารายได้อย่างไร้ข้อสงสัย
คำถามง่ายๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เสนอคือ หากอยากตรวจสอบดูว่าย่านที่เราอาศัยน่าอยู่หรือไม่ ให้ลองถามว่า
“หากเราทำกระเป๋าสตางค์หาย คิดว่าจะได้มันคืนมากน้อยแค่ไหน ?”
คำตอบต่อคำถามนี้จะเป็นตัวแทนตัวชี้วัดทั้งหมดเกี่ยวกับคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อน เพื่อนบ้าน ตำรวจ คนแปลกหน้า และสังคมรอบตัว ที่เหลือเชื่อก็คือเมื่อเอาคำถามนี้ไปถามผู้คนในบางเมืองของแคนาดาซึ่งมีรายได้สูงมาก ความไว้วางใจกันกลับต่ำจนน่าแปลกใจ
หมู่บ้านชานเมืองหลายแห่งในอเมริกาก็เช่นกัน นักวิจัยพบว่าระบบเมืองในหมู่บ้านแบบนี้แทบไม่เปิดโอกาสให้เราทำอย่างอื่น ผู้คนขับรถไปทำงานก่อนพระอาทิตย์ขึ้น กลับมาหลังฟ้ามืด ค่อยๆ ขับรถเข้าโรงจอดแล้วปิดประตูตามหลัง เมืองแบบนี้ดูดกลืนปฏิสัมพันธ์แบบเป็นกันเองไปจากชุมชน เพื่อนบ้านไว้วางใจกันน้อยมาก ในเมืองอย่างบอสตันและแอตแลนตานั้น เราสามารถคาดเดาความสัมพันธ์ของชุมชนได้ด้วยการนับจำนวนคนที่ต้องพึ่งพารถ ยิ่งจำนวนเพื่อนบ้านที่ขับรถไปทำงานมีมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้มที่จะเป็นเพื่อนกันก็น้อยลงเท่านั้น เมืองได้พรากชีวิตที่ดีไปจากเราเสียแล้ว
“คนเราต้องการอะไรเพื่อจะมีความสุข” ถึงตรงนี้ ประเด็นความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้เรานึกถึงเปญาโลซ่าและคำถามที่เขาเคยถามตอนหาเสียงลงเลือกตั้ง
คนเราต้องการอะไรเพื่อจะมีความสุข ?
หนังสือเล่มนี้ให้ภาพชัดเลยว่าเมืองควรจะเป็นแบบไหนถึงจะดีต่อเรา และเมื่อโอกาสมาถึง เราควรจะเลือกคนแบบไหนมาบริหารบ้านเมือง
ใครสักคนที่เข้าใจคนเมือง หรือมีคุณสมบัติเหมือนเปญาโลซ่าได้สักแค่เศษเสี้ยวก็น่าพอใจ !
เรื่อง: หนุ่ม หนังสือเดินทาง