วันนี้ เมื่อสองปีที่แล้ว ผมเคยเขียนถึงเขา..
‘ไผ่’ ไม้หนึ่ง ก.กุนที เกิดวันที่ 26 พฤศจิกายน 1969 ถ้ายังมีชีวิตอยู่ วันนี้เขาจะอายุครบห้าสิบปี วัยที่ใครสักคนบอกว่าเป็นวันเวลาที่ผู้ชายจะดูดี และมีใบหน้าเฉพาะ
สัจจะคือเขาจากไปในวัยสี่สิบห้า
เป็นอีกหนึ่งตำนานกวีที่โลกไม่อนุญาตให้มีขาลง
สำหรับผม เขาเป็นเพื่อนที่มีอิทธิพลทางความคิดสูง เพื่อนที่ชี้ชวนให้เป็นนักตั้งคำถาม ลงทุนลงแรงลงพื้นที่ และที่โดดเด่นอย่างยิ่งก็คือการพาออกมาจากคอกรั้ว
ไม่น่าจะต่างจากคนไทยคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ผมโตมาภายใต้คำสอนและจารีต ‘หมอบกราบ’ ว่าไปก็ดูขัดแย้งและแปลกๆ ดี เพราะว่าขณะที่นานาอารยประเทศ ‘ลุกยืนเสมอกัน’ มานานแสนนาน ไทยเราก็รับเอาวัฒนธรรมและเทคโนโลยีโลกมามากมายต่อเนื่อง หากเรื่องพื้นฐานและสำคัญในหลักคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะทัศนะว่าด้วย ‘คนเท่ากัน’ กลับเป็นสิ่งที่คล้ายยังเดินทางมาไม่ถึง
วันนี้ 26 พฤศจิกายน 2021 วาระ 52 ปี ชาตกาล มีเพื่อนพี่น้องหลายคนคิดถึงเขา ผมทำหน้าที่สื่อกลาง นำเสียงและสารเหล่านั้นมาบอกเล่า
บินหลา สันกาลาคีรี
ผมเห็นไม้หนึ่งในมติชนสุดสัปดาห์หลายปีก่อนได้เจอตัวจริง สิ่งที่สะดุดนั้นคือความคมและกวนตีนอย่างน่าอัศจรรย์ จดจำจนได้มีโอกาสเห็นลีลาสับเป็ดอันสง่าผ่าเผย และได้คุยกันสั้นๆ แบบพี่น้องร่วมงานเขียนกันสั้นๆ ครั้งหนึ่งที่บ้านของ open อาจเพราะช่วงเวลามันสั้น หรืออาจเป็นเพราะเราแทบรู้จักกันห่างเหิน เรื่องราวที่พูดคุยกันจึงเป็นเรื่องก้อนหินดินเหนียวอันรายล้อมอยู่ในเวลานั้น อาจมีพาดพิงถึงเป็ดและลีลาสับบ้าง แต่ผมจำไม่ได้
น่าจะร่วมๆ 20 ปีแล้วกระมังที่ผมได้เจอเขาแบบไร้สาระคราวนั้น และเป็นการเจอกันในวันที่ผมยังหลับใหลเหมือนการได้อ่านหนังสือดีๆ ในวันที่เราเป็นเด็กน้อยไม่ประสีประสา ทุกวันนี้มีแต่ความอยากเจอกันอีกสักครั้ง จะได้ไต่ถามความรู้ความเห็นบางอย่างจากไม้หนึ่ง
บางนาทีของวันนี้ ผมคิดถึงเขาแบบเดียวกับที่คิดถึง จิตร ภูมิศักดิ์ คิดถึงหัวใจและอหังการ์แห่งยุคสมัย
เมฆ’ ครึ่งฟ้า เขียนว่า
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
ดีใจจังที่ฉันยังจำวันเกิดปีนี้ของพี่ได้
อยากเอากวีบทเก่าไปบอกเล่า ปลอบใจ
แต่หาคำว่าประชาธิปไตยไปฝาก หากไม่มี
ธีร์ อันมัย นักเพลงจากตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งสารมาว่า
กวีราษฎร,
หลังจากคุณทิ้งร่างนอนเหยียดยาวกลางใจเมืองได้ไม่ถึงเดือน
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ถูกรัฐประหารโดยทหารผู้อ้างความจงรักภักดี
หลังรัฐประหาร นักคิด นักเขียน นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและผู้ต่อต้านถูกเรียกตัว
ถูกข่มขู่คุกคามตามตัว ถูกถุงดำคลุมหัว ถูกกักตัว ถูกคุมขังและถูกตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์
บางส่วนเลือกหลบลี้หนีภัยรัฐทหารและศักดินา
คณะรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่และจัดการลงประชามติอันฉ้อฉลจนมีคดีประชามติ
จากนั้น หมุดคณะราษฎร 2475 ถูกขุด หมุดหน้าใสถูกใส่เข้าไปแทนที่
อนุสาวรีย์ปราบกบฏถูกโจรกรรม ความทรงจำคณะราษฎรถูกทุบทำลาย
การเลือกตั้งภายใต้กติกาฉ้อฉลเป็นเพียงการเปลี่ยนเสื้อคลุมประชาธิปไตยให้คณะรัฐประหาร
ผู้นำรัฐบาลยังใช้คำนำหน้าว่า พลเอก
แต่คณะราษฎรก็ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่
เผด็จการสมุนศักดินาชราภาพใช้อำนาจกดปราบหยาบช้ามากขึ้น
แต่ศัตรูของพวกนั้นก็อายุน้อยลงทุกวัน
กวีราษฎร,
เมื่อคุณจากไป หลายสิ่งเปลี่ยนไปมาก
แต่สำหรับคนบางจำพวกก็ไม่เคยเปลี่ยน
กวีนักเขียนเลียตีนศักดินาเนรคุณไม่เคยเปลี่ยน
ขุนศึกอำมาตย์เลียตีนศักดินาเนรคุณไม่เคยเปลี่ยน
นักวิชาการปัญญาชนเลียตีนศักดินาเนรคุณไม่เคยเปลี่ยน
ส่วนนี่ เป็นทัศนะจาก ณรรธราวุธ เมืองสุข สื่อมวลชนอิสระ
พูดอย่างไม่อาย ผมเป็นอีกหนึ่งคนที่เติบโตจากการตายของไม้หนึ่ง ก.กุนที
ก่อนเดือน พฤษภาฯ 2553 เล็กน้อย ขณะการชุมนุมเสื้อแดงกำลังเข้มข้น ผมนัดเจอคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ แถวถนนดินสอหลังเขากลับมาจากชายแดนใต้และผมกลับขึ้นมาในช่วงนั้น ผมจำได้ว่าเราเดินหาร้านส้มตำเพื่ออรรถรสของเรื่องเล่ามื้อเย็น แต่ต้มแซ่บเนื้อเปื่อยและเบียร์ลีโอเย็นๆ บนโต๊ะให้รสเลวทรามลงทันที เมื่อผมออกปากวิจารณ์บทบาทกวีอย่างไม้หนึ่งที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงหนแล้วหนเล่า ผมผู้ไร้เดียงสารู้อยู่ว่าไม้หนึ่งคือเพื่อนรักของพี่ชายอย่างวรพจน์ แต่ยังแสดงมุมมองราวกับว่าผมรู้จักไม้หนึ่งดีกว่าเพื่อนของเขาเสียอย่างนั้น ผมแค่คิดในมุมของผมว่า กวีไม่ควรไปยืนบนเวทีปราศรัย กวีไม่ควรปลุกระดมด้วยคำของนักการเมือง กวีควรเขียนบทกวีและส่งเสียงเรียกร้องต่อโลกนี้ด้วยกลวิธีอันมีสุนทรียะและอารยะ ผมนึกถึงประดากวีไทยที่อยู่ในหัวผม สิ่งที่ไม้หนึ่งเป็นขณะนั้น และโลกอุดมคติที่สร้างขึ้นเอง
คุณวรพจน์ตอบผมสั้นๆ ด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า “นายยังไม่รู้จักไม้หนึ่งเพื่อนเราดี นายยังไม่เข้าใจอะไรเลย” ผมกับคุณวรพจน์จากกันวันนั้นด้วยช่องว่างทางความรู้สึกที่ก่อตัว
หลังมวลชนเสื้อแดงเผชิญการล้อมปราบในเดือนพฤษภา 53 ผมค่อยๆ เข้าใจอะไรๆ มากขึ้น และใช้เวลาหลังจากนั้นทำความเข้าใจบทบาทของไม้หนึ่งเงียบๆ ไม่ว่าช่วงที่เขาหลบหนีไปใช้ชีวิตที่กัมพูชา หรือกลับมาขับเคลื่อนหมู่บ้านเสื้อแดง ผมค่อยๆ พบข้อสรุปของตนเองว่า ไม้หนึ่งไม่เคยเอาตัวเองไปอยู่ในระนาบทำเนียบกวีไทย เขาไม่อยากปีนป่ายขึ้นไปนั่งสง่าบนหิ้ง แต่ตัวตนของเขาคือมวลชนผู้มีเจตจำนงปฏิวัติ บทกวีที่เขาสำแดงสำนวนอันเด็ดขาดเข้มข้นเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารความคิดของเขาเท่านั้น
แต่ผมยังไร้เดียงสาตอนไม้หนึ่งเข้ามารื้อพานแว่นฟ้าจนเกิดการปะทะเสียดสีของวงการนักเขียนสองฝั่ง จวบจนฤดูร้อน 2557 ขณะกลิ่นเหม็นเน่าของการรัฐประหารเริ่มโชยเข้ามาในห้องข่าวแถบคลองเตยที่ผมสังกัด บ่ายวันนั้นข่าวว่าไม้หนึ่ง ก. กุนที ถูกลอบสังหารก็ผ่านเข้ามา
ผมโทรฯ หาคุณวรพจน์ โทรฯ หาทุกคนที่ผมรู้จัก ก่อนรู้สึกถึงแรงสั่นสะท้านภายในอย่างรุนแรง
วันรดน้ำศพที่วัดเสมียนนารี 24 เมษายน 2557 ผมยืนเบียดเสาศาลาอย่างตัวลีบเล็ก เฝ้ามองทุกคนที่เคารพรักไม้หนึ่งอย่างเพื่อน พี่น้อง มิตรสหายร่วมอุดมการณ์ และมวลชนที่ศรัทธา ผมมองเห็นความไร้เดียงสาน่าสมเพชของตนเอง และเป็นวินาทีที่ผมรู้สึกถึงความกระจอกงอกง่อยของวงการกวีไทย
ไม้หนึ่งไม่มีวันเป็นอย่างที่พวกเขาเป็น และพวกเขาไม่มีวันเป็นอย่างที่ไม้หนึ่งเป็น
ผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนับแต่วันนั้น ความตายของเขาเหมือนการรดน้ำพรวนดินในจิตสำนึก ให้อุดมการณ์ผมเติบโตเอาตีนแตะพื้นก้าวยืนเหมือนที่มวลชนเขายืนหยัด และเดินหน้าต่อไปเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ มันไม่คุ้มหรอก หากเราแลกการเติบโตของตัวเองด้วยความตายของใครสักคน แต่ในเมื่อย้อนเวลาแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริงว่าความตายของไม้หนึ่ง ก.กุนที มาพร้อมความรู้สึกแปลกประหลาด ทั้งความโศกเศร้าที่บาดลึกในใจ และความปลอดโปร่งราวสัตว์พิการที่ถูกปลดปล่อยจากที่คุมขังทางความคิดของตัวเอง ซึ่งนั่นคือตัวผม
อุรุดา โควินท์ บอกว่า–พี่ไผ่คะ เวลาพูท้อ พูก็เผลอคิดว่า พี่ตายได้ดี ตายในเวลาที่ไม่เจอช่วงเวลาลำบากแบบพวกเรา แต่แล้วพูก็คิดได้ว่า ถ้าเป็นพี่ พี่คงไม่รู้สึกเหนื่อย พี่คงไม่ท้อ พี่จะสู้ เพื่อรอวันนั้น..โอเค งั้นเราก็จะอยู่ที่นี่ รอคอยวันนั้นด้วยกัน
อติภพ ภัทรเดชไพศาล ส่งข้อความสั้นๆ ว่า ท้องธารเลือดแดงยังไม่จาง คิ้วขวางตะโกนกู่อยู่ไกลๆ
ขณะที่ ต๋อย สมฤกษ์ เพื่อนร่วมรุ่นจากทับแก้ว บอกว่า– ไอ้ไผ่ กูอยากให้มึงอยู่ได้เห็นวันนี้ วันที่การเปลี่ยนแปลงจ่อคอหอยชนชั้นนำ
ปีที่แล้วกูโคตรลำพองใจ ขบวนนักศึกษา เด็กและเยาวชนตื่นตัวทางการเมือง มีการแสดงพลังมวลชน เกิดปรากฏการณ์ตาสว่าง ข้อเรียกร้องต่างๆ มันอึกทึกขึ้นทุกวัน กูอยากจะบอกว่า เป็นที่น่ายินดีมีบางกลุ่มเอาบทกวีสถาปนาสถาบันประชาชนไปอ่านที่สนามหลวงด้วย
คราวที่กูอยู่โคราช เดือนละหน สองหน มึงจะโทรฯ หา คุย ถก ประเด็นข่าว วาระทางสังคม นิสัยของมึงน้อยนักจะพูดถึงครอบครัว และตัวเอง
มีบ้างที่พูดเรื่องร้านข้าวหน้าเป็ดที่มึงเปิดในกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นร้านอาหารไม่อยู่ในหัวเลยว่ะ แต่มึงก็บอกว่าถ้าจะทำอะไรในเมือง และสนใจสูตรเป็ดย่างก็ให้บอก
และถึงวันนี้กูมีร้านเป็ดย่างตามที่มึงบอกจนได้ กูย้ายจากโคราชมาแม่สอดซึ่งเป็นเมืองที่เติบโตไว ทุนมีน้อยนิดลองผิดลองถูกแข่งกับทุนใหญ่กว่า สุดท้ายไปไม่รอด นึกถึงช่องทางที่มึงบอก จึงปรับเปลี่ยนตัวเองตัดสินใจทำร้านอาหาร เฮ้ย เข้าท่า แม้จะเหนื่อย แต่ก็พากูและครอบครัวรอดมาจนวันนี้
ขอบใจที่เป็นเพื่อนกันไอ้ไผ่ นึกแล้วก็เสียดาย มึงไม่ได้มานอนบ้านกู คุยและถกเถียงเรื่องบางเรื่องกันอีก
วิฑูรย์ แซ่โง้ว รุ่นน้องจากทับแก้ว บอกว่าคิดถึงไม้หนึ่ง เขาจะคิดถึง–ชายร่างผอมเกร็ง กระฉับกระเฉง มือไม้ที่คล่องแคล่ว แม่นยำ มีดวงหน้าฉลาด ครุ่นคิด ยิ้มยาก และไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
อรุณรุ่ง สัตย์สวี มองเห็นความเชื่อมั่น มุ่งมั่น และเด็ดเดี่ยว
ส่วนกวีหนุ่ม กัญชญา ส่งข้อความนี้มา
สิ่งที่ผู้ตื่นช้าจะชดเชยแก่ผู้มาก่อนและจากไปก่อนได้ คงเป็นการระลึกถึง พูดถึง และส่งต่อประวัติศาสตร์ของเขาเหล่านั้นต่อไป สักกี่คนบนโลก ที่เขียนบทกวี อ่านบทกวี จนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิต ?
ผู้มีอำนาจเกรงกลัวอะไรกับบทกวี ? ผู้มีอำนาจหวั่นเกรงอะไรกับกวีคนหนึ่ง ?
คมกระสุนอาจพรากชีวิตของกวี แต่มิอาจพรากจิตวิญญานและอุดมการณ์ของกวี
*เราอยู่ที่นี่
ซุ่มซ่อนตัวอย่างเปิดเผย
โดยไม่เคยจากไปไหน
ในบึ้งใจ ของผู้ถูกกดขี่
เราอยู่ที่นี่
กินนอนท่ามกลางความ เป็น, ตาย
มีเซ็กซ์กับคนที่เรารัก
สืบลูกหลานรุ่นสู่รุ่น
เราไม่เคยสูญสลาย
ไม้หนึ่ง ก. กุนที เสียชีวิต แต่จิตวิญญาณและอุดมการณ์ของเขาเป็นอมตะ อย่างน้อยที่สุด อุดมการณ์คนเท่ากัน ก็สถิตอยู่ในหัวใจของกวีต๊อกต๋อยผู้มาทีหลังคนหนึ่ง
ด้วยความนับถือในหัวใจของคุณอย่างยิ่ง
*บทกวี กบฏ เขียนโดย ไม้หนึ่ง ก. กุนที
ในส่วนของผม สองปีก่อนผมไม่ได้เขียนเท่านั้นหรอก ยังมีอื่นๆ อีกพอสมควร ดังนี้..
ไม้หนึ่ง (ซึ่งผมเรียกเขาว่าไผ่) มีรากจากสังคมเกษตรกรรม ทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก เป็นหนอนหนังสือเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย สนใจกวีนิพนธ์และทำงานด้านนี้จริงจังตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา จบแล้วเลือกทางเดินในสายพ่อค้าข้าวหน้าเป็ดแบบฟูลไทม์ คือนอกจากตื่นแต่เช้าตรู่มาตระเตรียมแต่งปรุง ย่างเป็ดเอง เขายังยืนขายหน้าร้านตลอดทั้งวัน กระนั้นก็ตาม กวีนิพนธ์กับไผ่กลับยิ่งมั่นคงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
ปังตอหนักแปดขีด
ข้าพเจ้ากรีดไปมาบนตัวเป็ด
ไร้กฎเกณฑ์และไร้กลเม็ด
เคล็ดลับเคยมี เป็นอดีต
แทบมิมีใดกำหนดในทรงจำ
ผลักกระทำตามภาวะของคมมีด
ซ้ายกระชาก ขณะขวาสับ กรายกรีด
มีช่องขีดระยะหว่างสองมือ
ซ้ายไม่กระทบขวา ขวาไม่กระทบซ้าย
สองฝ่ายประสานประคองถือ
ล้วนได้จากกระทำและฝึกปรือ
นักทฤษฎีเพียงเห็นหรือจะเข้าใจ
ปังตอข้าพเจ้าหนักแปดขีด
เป็ดย่างทุกตัวสยบใต้
หลอมรุนแรงเข้ากับละมุนละไม
ปรากฏในทุกสับกรีด คมปังตอ.
ทุกค่ำเช้า กับงานในร้านซึ่งต้องใช้หยาดเหงื่อแรงงาน บวกวิริยะในโลกการเขียนการอ่าน ทำให้บาลานซ์ชีวิตเขาสอดรับสมดุล รู้เรื่องและทันเกมทุนนิยม ขณะขับเคี่ยวกาพย์กลอนอักษรศาสตร์ พูดง่ายๆ ว่าเป็นกวีที่บวกลบคูณหารและทอนตังค์เป็น
เมื่อลงแรง และเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจได้ บทกวีก็ไม่ต้องง้อ หงอ หรือรับบัตรคิวรอการหยิบยื่นจากเครือข่ายอำนาจเก่าในระบอบอุปถัมภ์
ไม่ใช่คนช่ำชองเชี่ยวชาญ แต่ผมเรียนวิชาการเงินจากไผ่
พอเข้าใจมันบ้างแล้วก็ไม่เสียเวลาโรมานซ์ ทำงานเพื่อการกุศล ทั้งที่ปากหิว เราภาคภูมิใจในเงินที่หาได้จากบทกวี เราไม่เคยเคอะเขินหรือหน้าบางที่จะบอกว่าทำมาหากินกับศิลปะ ทำมาหากินกับเรื่องราวชีวิตผู้คน ก็ทำไมล่ะ ทีบรรดาหมอๆ หาเงินจากความป่วยไข้ พวกเขาและเธอไม่เห็นจะต้องอับอาย ตรงกันข้าม สังคมยังพร้อมใจยกมือไหว้ ให้เกียรติไม่ลดละ
เหตุผลหนึ่งที่วงการศิลปะศิลปินไม่ไปไหนไกลก็ด้วยไร้เดียงสาเรื่องทุน ผมว่าเป็นเหตุผลสำคัญเลยด้วยซ้ำ ขณะที่ชุดคลุมพ่อค้าข้าวหน้าเป็ดทำให้ไผ่ก้าวพ้นวงจรอุบาทว์
พ้นจากความเป็นทาสในเรื่องทุน เขาออกไปเดินถนน เมื่อบ้านเมืองเกิดความขัดแย้งรุนแรง ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร กันยายน 2006 ออกไปฟังไปดูให้รู้ เพราะในหน้าสื่อสารมวลชน พ.ศ.นั้น ไม่มีข้อมูลให้รู้
มี แต่มุมเดียว แบบเดียว
มี แต่น้อยและเบาบางเกินไป ถ้าไม่ออกไปก็โดนหลอกให้อยู่ในคอกรั้ว
คู่ขัดแย้งมีสองสี สามสี หากหมกมุ่นจมอยู่กับข้อมูลของสีเดียวฝ่ายเดียว การอ่านเกมให้แตก หรือการวิเคราะห์วิจารณ์ย่อมเป็นไปได้ยาก และมีโอกาสผิดเพี้ยนง่าย
เพียงออกไปเดินถนน ไปฟังเสียง ไปสบตาประชาชน เราจะเห็น เราจะอ่านออกว่าต้นทางของความขัดแย้งคืออะไร
บทกวี ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ ของไผ่พูดเรื่องนี้ตรงๆ และนี่คือหมุดหมายใหม่ของกวีนิพนธ์ไทยซึ่งอยู่ใต้ร่มเงา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มานาน ใหม่และขยับย้ายฐานที่มั่นจากหน้ากระดาษไปสู่เวทีมวลชนผู้ชุมนุมทางการเมือง
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
สายลมปฏิปักษ์จึงพัดหวน
การรื้อสร้างไม่อาจทำอย่างนุ่มนวล
ทุกชิ้นส่วนต้องกล้านับหนึ่งใหม่
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
กระบวนทัศน์เสรีไม่ขยาย
2475 พริบตาเป็นอาชาไนย
แล้วก็กลับเป็นงัวควายเหมือนๆ เดิม
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
สิทธิ์ หน้าที่แจ่มชัดไม่ทันเริ่ม
ลงหมุดแล้วไม่ตอกต่อเสาเติม
เอาเครื่องเรือนไปปลูกเสริมสร้างเวียงวัง
…
แรกๆ ผมไปติดตามดูม็อบสีเดียว (ก็ธรรมดา, เด็กเก่าผู้จัดการ และสีเหลืองก็ร้อนแรงออกปานนั้น) วงสนทนาและการโต้เถียงหลายๆ ครั้งกับไผ่ เปลี่ยนชุดความทรงจำ ‘ฉบับแบบแผน’ ไปสู่การไต่สวนวิพากษ์ สู่การเคลื่อน การโยกย้าย วิวัฒน์
ผู้คนบนท้องถนน เวทีเสวนา และหนังสือสายทางเลือก ค่อยๆ เหลาแบบเบ้าความทรงจำ ขูดลอกหินปูน propaganda ทิ้ง มองความจริงใหม่ในหลายๆ แง่มุม คอกรั้วที่เคยแข็งแรง ไม่ว่าขนบเถรวาท ยอดมนุษย์ซูเปอร์ฮีโร่ ตำนานเทพไท้ไสยศาสตร์ ทาสหลงยุค ฯลฯ เริ่มถูกท้าทาย สั่นคลอน ข้อสังเกตของไผ่มีน้ำหนักมากขึ้นทุกวัน ยิ่งถกเถียง ค้นคว้าศึกษา ผมรู้สึกว่าเริ่มมองเห็นกลเกม
หน้ากากแห่งมายาถูกฉุดกระชากให้เห็นใบหน้าที่แท้ โครงสร้างอำนาจที่เคยซ่อนพรางค่อยเปิดเผย
“ขอบใจมากที่พากูออกไปจากคอกรั้ว” เป็นวรรคหนึ่งที่ผมเขียนถึงไผ่ ในหน้าคำนำหนังสือ ‘กวีราษฎร’ (พิมพ์ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2019) ไม่มีเขา เดายากอยู่เหมือนกันว่าจุดยืนของผมในวันนี้จะอยู่ที่ไหน
อืมม์ จะยืนขึ้น หรือก้มลงหมอบกราบ
ขอบใจที่ผมเขียนถึงเขาจึงหมายความว่า ขอบใจจริงๆ
ส่วนคอกรั้วเก่าๆ ก็กลายเป็นอดีตไปแล้วหมดสิ้น นิทานเรื่องเดิมโดยผู้เล่าคนเดิมไม่ฟังก์ชันใดๆ อีกแล้ว ผมขอเลือกทางเดินไปสู่โลกกว้าง ไปฟังเรื่องเล่าใหม่ๆ ในวิธีคิดแบบคนเท่ากัน ส่วนใครอยากเป็นสัตว์เลี้ยง อยากเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือใครชอบหมอบกราบคลานเข่าก็สุดแล้วแต่ท่าน เรื่องแบบนี้เราไม่ก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพกัน
“เป็นกวีมันต้องเท่” เพียงพบกันครั้งแรก ไผ่เคยกล่าวกับกวีรุ่นพี่ผู้หัวหกก้นขวิด ทำชีวิตล้มละลาย ผมเห็นด้วยกับเขาอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ใช่เพียงกวีหรอก แต่เกิดมาเป็นคนมันก็ต้องเท่
เท่ที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่าทาส
เท่ที่แปลว่าเสรีชน
ไผ่เท่จริงๆ ไม่นับว่าเป็นคนไหวพริบปฏิภาณดี เขาไวกับการคิด การถาม การศึกษา เวลาร่วมๆ ปีหนึ่งในลาว เขาพูดได้ฉะฉาน อ่านหนังสือคล่อง ร่วมๆ ปีหนึ่งในกัมพูชา เขาพูดได้ใกล้เคียงเจ้าของภาษา
แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ในห้วงเวลาที่ไม่เอื้อเอาเลยกับการเรียนรู้
ถ้าไผ่ยังไม่ตาย ทุกวันนี้ผมคงคุยกับเขาสนุก อย่างที่เคย
แต่ละวัน สังคมไทยมีสารพัดเรื่องให้เราตั้งวงวิเคราะห์วิพากษ์ (สารพัดเรื่อง แต่ในเกมเก่า คนวางพล็อตเก่าๆ นั่นแหละ) เขาจะคิดอ่านการใดบ้างนะ กับเส้นทาง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรคอนาคตใหม่ แล้วรัฐบาลที่มาจากการออกแบบของหมอกฎหมายเจ้าประจำของคณะรัฐประหารล่ะ
สำหรับน่านโปเอซี คงมีสีสันขึ้นมาก หรือไม่หรอก ป่านนี้เขาน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัย อาศัยอยู่ต่างประเทศมากกว่า
สัจจะคือไผ่ไม่อยู่แล้ว และข้อเท็จจริงก็คือผมยังคุยกับเขาอยู่บ้าง สนุกดีเหมือนกัน คุยแบบคิดเอง เออเอง เหมือนตอนขี่มอเตอร์ไซค์เข้าบ้านสวนช่วงโพล้เพล้มืดค่ำ ผมมักเผลอไผลอมยิ้ม ด้วยรู้สึกว่าเขานั่งซ้อนท้าย และผมไม่ได้อยู่คนเดียว
ตายได้ดี ตายได้ดี พี่ที่รัก
เป็นไม้หนุ่มโค่นหักคงเนื้อไม้
วาวเสี้ยนเงา เลื่อมแก่นแข็ง ละเอียดลาย
งอกงามได้โดยสามัญชนบำรุง
อย่าไปเลย สวรรค์กวีรุจีรัตน์
เป็นเทพไท้ในอาณัติชนชั้นสูง
กลับเรือกสวนไร่นา ราษฎรบำรุง
เป็นผีทุ่งผีป่าคุ้มประชาชน.
กวีนิพนธ์ชิ้นนี้ ไผ่เขียนให้ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เขียนมาอ่านต่อหน้าพี่ชายและแม่ของกนกพงศ์ ในวันงาน ‘กนกพงศ์ยังคงอยู่’ ที่ผมจัด ณ people space แพร่งภูธร
เมื่อยามที่ต้องเขียนถึงไผ่ ผมก็อปปี้วรรค–อย่าไปเลย สวรรค์กวีรุจีรัตน์
ก็อปปี้เอามาใช้ในหน้าคำนำ ซึ่งผมเขียนว่า–
อย่าไปเลย สวรรค์กวีรุจีรัตน์ อยู่ที่นี่ เป็นกวีราษฎร
ผมคิดว่าเขาน่าจะชอบ สำหรับผม ไม้หนึ่งยังเป็นไม้หนุ่มเสมอ ไม้หนุ่มที่โค่นหัก แต่ยังคงเนื้อไม้
..
ความเรียงชิ้นนี้ใช้ชื่อว่า คิดถึง ไม้หนึ่ง ก.กุนที “ขอบใจมากที่พากูออกมาจากคอกรั้ว” ความตอนหนึ่งกล่าวถึงหนังสือ ‘กวีราษฎร’ ที่ผมและ ธิติ มีแต้ม เป็นบรรณาธิการร่วม นำเสนอกวีนิพนธ์คัดสรรของเขามามัดรวมไว้ในคราวเดียว
บางเราอาจยังไม่ได้เห็น ไม่ได้สัมผัสจับต้องตัวเล่ม ขออนุญาตตัดตอนบางส่วนจากคำนำมาบอกเล่า
..
นับผลงานที่ตีพิมพ์รวมเล่ม ไม้หนึ่ง ก.กุนที มีผลงานดังนี้ บางเราในนคร (ปี 1998), รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก (2001), สถาปนาสถาบันประชาชน (ปี 2011)
แท้จริงเขามีผลงานมากกว่านี้หลายเท่า เพียงแต่ไม่ได้รวบรวมจัดพิมพ์ ยิ่งช่วงที่การเมืองเข้มข้นแหลมคม วันแล้ววันเล่า เขาเขียนและอ่านบนเวทีการต่อสู้ เขียนและอ่านเสมือนหนึ่งการกินข้าวอาบน้ำ
ด้วยบทกวีคือชีวิตของเขา
ด้วยบทกวีคือปีกที่โบยบินเรียนรู้โลก ปีกที่โบยบินเข้ากอดรัดสัมผัสวิญญูชน
อาจไม่ครบถ้วน แต่หนังสือเล่มนี้ก็นับว่าใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์ เพราะนอกจากจะจับหนังสือทั้งสามเล่มของเขามัดรวมไว้ในคราวเดียว เรายังไปรื้อค้นบทกวีในสมุดบันทึก ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มเขียนสมัยเรียนหนังสืออยู่ทับแก้ว ไล่หาต้นฉบับจาก ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ซึ่งเขาเขียนต่อเนื่องนับสิบปี และอีกบางส่วนกระจัดกระจายจากคลิปและเฟซบุ๊กซึ่งไม่เคยถูกตีพิมพ์
เรื่องคุณภาพ–ว่ากันไปตามใจท่าน ของอย่างนี้ลางเนื้อชอบลางยา เอาแค่ปริมาณ ภูเขาเลากาบทกวีอธิบายว่าเล่นอะไรแล้ว เลือกอะไรแล้ว เชื่ออะไรแล้ว ไม้หนึ่งทุ่มเทให้ทั้งตัว
ถ้อยคำประเภท ขำๆ ชิวๆ เอาไปใช้กับคนอื่น
ดูบางเดือนปีที่เขาเขียน ย้อนมามองตัวเอง อายุพอๆ กัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ขณะที่เรายังหาแก่นหารากไม่เจอ แต่เขาสะพายดาบออกท่องยุทธจักรไปไกล
ทั้งแดดทั้งฝน และเหงื่อชุ่มโชกเนื้อตัวแบบนั้น ยังต้องสงสัยอีกหรือว่าทำไมเขาจึงแกร่ง หลบตาใครไม่เป็น
‘กวีราษฎร’ เป็นชื่อความเรียงชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนถึง ไม้หนึ่ง ก.กุนที ลงในนิตยสาร GM ในราวปี 2005 (ภายหลังจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือ ‘ทางโลก’)
ใช้ชื่อนี้เพราะเห็นแบบนี้ และจงใจคัดง้างตรงๆ กับคำว่า ‘กวีราชสำนัก’ ช่วงขวบปีนั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกระแสสูง ทั้งเจ้าทั้งไพร่ ใครๆ ก็ไปมหาวิทยาลัยราชดำเนิน แต่ไม้หนึ่งไปสนามหลวง ไปเป็นเพื่อนพี่น้องกับมวลชนอีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มเล็ก ยากไร้ และชื่อเรียก ‘คนเสื้อแดง’ ยังไม่เกิด
ในอาณาจักรนี้ แต่ไหนแต่ไรมาเรารู้จักแต่กวีราชสำนัก เพราะไม้หนึ่งอย่างแท้จริงเราจึงเห็นกวีในความหมายใหม่ กวีที่อ่านโครงสร้างการเมืองออก กวีที่ไม่หลงใหลได้ปลื้มกับเศษชิ้นเนื้อในระบบอุปถัมภ์ และเดินเข้าร่วมหัวจมท้ายกับชาวบ้านซึ่งนอกจากเป็นผู้เสียเปรียบ ยังถูกลำเลิกบุญคุณเสมอมา
หนังสือเล่มนี้เลือกใช้ชื่อนี้ก็เพราะนั่นคือความจริง
สปิริตไม้หนึ่งเป็นราษฎร สืบสานแนวคิดคณะราษฎร
ถ้าไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองนัก ตลอดสิบกว่าปีมานี้เราย่อมรับรู้กันดีว่าอำนาจทั้งสองฝ่ายกำลังปะทะกันอย่างหนัก และฝ่ายราษฎรเป็นมวยรองชนิดถูกกระทืบอยู่ฝ่ายเดียว
ฝ่ายหนึ่งมีศาล มีทหาร มีความดีงามศักดิ์สิทธิ์ อีกฝ่ายมีเพียงมือเปล่า
ฝ่ายหนึ่งถูกเทิดทูนเป็นสถาบัน อีกฝ่ายถูกผลักดันให้เป็นเถ้าธุลี
โดนฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ฆ่าแล้วก็แล้วกัน
โดนจับขังครั้งแล้วครั้งเล่า
ขังแล้วก็แล้วกัน
ฝ่ายพีอาร์ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวช่วยกันโหมประโคมทุกช่องทางว่าเถ้าธุลีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า ไม่เหมือนใครในโลก ความตายของไม้หนึ่งเป็นความตายจากสงครามชนชั้น เขาตาย เขาพ่ายแพ้ แต่บทกวีที่เขาเขียนขึ้นต่อสู้ก็หาใช่สิ่งลบเลือนได้ ยิ่งพยายามลบเท่าไร มันจะยิ่งย้อนกลับมาท้าทาย ทิ่มแทง
‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ ไม่เคยมีคำนี้ในภาษาไทย คำนี้เป็นของเขา มันเกิดขึ้นแล้ว มันถูกตอกลงไปในสามัญสำนึกผู้คนบนแผ่นดินนี้แล้วจำนวนมาก ฆาตกรฆ่าได้แค่ร่างกายไม้หนึ่ง แต่คุณฆ่าความคิดนี้ไม่ได้
คุณมีกวีราชสำนัก เขาเป็นกวีราษฎร
คุณปกป้องสถาบัน เขาสถาปนาสถาบันประชาชน
ใครเป็นคนส่วนใหญ่ ใครเป็นผู้ใช้แรงงาน ใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นฝ่ายโดนเหยียบย่ำยี
ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าทะลุฟ้าทะลุดิน คำถามเหล่านี้จะดังขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งถาม ก็จะยิ่งลุกลามโกรธแค้น ว่าทำไมประชาชนจึงเป็นได้แค่ฝุ่น
ยิ่งถามก็จะยิ่งมองเห็น ว่าเราล้วนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ผู้เช่า บนแผ่นดินนี้เราต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสมอกัน
ทั้งหมดที่ว่ามา ในส่วนของผม เป็นงานเก่าที่จงใจบันทึกไว้อีกครั้งในวาระ 52 ปีชาตกาล
ส่วนอันนี้เป็นข้อความล่าสุดที่ผมอยากพูดกับไผ่
..
พรุ่งนี้กูมีงาน ป่านนี้มึงคงรู้แล้วมั้ง สัส ข่าวออกจะอึกทึกปานนั้น เออ ว่างๆ ก็มาดิ เผื่อกูจะได้รายงาน แนะนำ ว่าเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็เพราะมึงนั่นแหละ เหมือนตอนคิดทำเทศกาลบทกวี ‘น่านโปเอซี’ นอกจากได้เปิดพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ มันเป็นวิธีที่ดิบซื่อที่สุดที่ทำให้รู้สึกว่ามึงยังอยู่ใกล้ๆ เหมือนแต่ก่อน ไม่มีอะไรซับซ้อน เหมือนตอนนี้แหละ กูริเริ่มทำ nan dialogue ก็ด้วยก๊อปปี้ไอเดียเก่าของมึงมาผลิตซ้ำ หนึ่ง, คือการสร้างสนาม ช่วงชิงพื้นที่ข่าวสาร (เมื่อมีสนาม ความรู้จะตามมา) และสอง, คือการเดินเข้าไปหาประชาชน ปะทะ แลกเปลี่ยน ฟัง และจดบันทึก ทำให้เสียงในความเงียบส่งเสียงก้องดังขึ้นมา ทำให้ทุกใบหน้าที่เคยถูกปิดพรางบดบังเอาไว้ได้มีโอกาสบอกกับโลกว่าเราคือประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจแท้จริง ถ้าไม่มีมึง กูคิด กูทำเรื่องทำนองนี้ไม่เป็นหรอก ไม่มีมึง กูก็คงนอนแห้งเหี่ยวอยู่ในห้อง (มึงก็รู้ การอยู่เฉยๆ ทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวนี่มันทางถนัดกูเลย)
บรรยากาศทุกเรื่องในบ้านเมืองของเรามันกัดกร่อนลิดรอนเอาเรื่องอยู่นะ ไม่แข็งจริงๆ นี่เรียกว่าง่ายมากนะที่จะถูกกลืนกินไปกับสถานการณ์ ที่ปากดีอยู่นี่ จริงๆ กูไม่ต่างจากคนอื่นหรอก โกรธและโคตรเซ็ง แต่เพราะมึงกูถึงพยายามคิด และทำในสิ่งที่เราถนัด ซึ่งเกมก็เพิ่งเริ่มว่ะ เริ่มแล้วก็ออกแรงให้สุด ออกแบบ แก้ปัญหา ประคับประคองให้มันเดินหน้าไป บางทีก็นึกๆ อยู่ว่าถ้ามีปัญญา มีแรง สักส่วนเสี้ยวของมึง ก็คงดี แต่ไม่เป็นไร แค่ไหน แค่นั้น
พี่เจงเขียน portrait มึง (ที่ใช้ทำปก กวีราษฎร) กูเอาภาพต้นฉบับมาใส่กรอบแขวนไว้ในห้องบินหลา เวลาพิจารณาชีวิตอันเบาหวิวว่างเปล่าก็อาศัยใบหน้าของมึงช่วยตบตี ฉุดกระชาก ว่าอย่าอ้างนี่อ้างนั่น หรือสันหลังยาวนัก อีกไม่นาน สุสานก็รออยู่เบื้องหน้า อะไรต้องทำก็ต้องทำ ก่อนจะสาย
ผลลัพธ์โดยรวมยังไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไร เพราะสันดานมันก็แก้ไขยาก แต่เห็นแนวโน้มอยู่นะว่าดีขึ้น
ยังไงก็เถอะ, กรุณารับทราบไว้หน่อย ว่าไอ้ที่กูวิ่งเป็นม้าอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมึง.
เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ภาพลายเส้น : สุมาลี เอกชนนิยม