“เป็นเมื่อสิบปีก่อนนะ..”
“ถ้ารู้ก่อนหน้านี้สักสิบปีก็คงดี..”
มิตรอาวุโสพูดทำนองนี้หลายครั้ง ไม่มีระหว่างบรรทัดใดให้ตีความ เธอหมายความซื่อๆ ตามนั้น
ถ้ารู้แปลตรงตัวว่าไม่รู้ ไม่ได้เผื่อ ไม่ได้เตรียม นึกว่าได้ นึกว่ารอด พอเวลาล่วงผ่าน อ้าว แหม ช้าไปหน่อย หรืออาจยังไม่ถึงขั้นสายเกินไป แต่มันไม่ค่อยสวยแล้ว เหนื่อยง่าย และไม่แข็งแรงเท่าเดิม หยิบจับอะไรงุ่มง่าม สมองไม่ไบร์ท จิตใจไม่เฟรชเท่าหนุ่มสาว รูปธรรมที่เห็นชัด วันนี้ดื่ม พรุ่งนี้เดี้ยง ใช้เวลาทวงคืนความสดนาน
หนี้–ถ้าจำเป็นต้องมี ภายในวัยสี่สิบเอาให้จบได้มั้ย เคลียร์ตัวแดงคืนสู่ตัวขาว ตัวเบา
บ้านเอายังไง จะมีหรือไม่มี รู้เร็ว รู้ชัด เส้นทางเดินมันจะได้ไม่คดเคี้ยวอ้อมไกล ไม่ใช่หกสิบกลางๆ แล้วเพิ่งจะเล็งทำเลเลือกลงเสาเอก ถามว่าผิดบาปอะไรหรือเปล่า คำตอบมันไม่ผิดอยู่แล้ว มนุษย์พึงลงทุนในปัจจัยสี่ นี่เป็นการกระทำที่ถูกที่ควร แต่จังหวะค่อนข้างจะช้าไปไม่น้อย ถามว่าช้าแล้วไง ช้าแล้วก็เหนื่อยน่ะสิ
ไม่ต้องหันรีหันขวางไปเปรียบเทียบกับใคร หากเราจะรู้ตัวเองว่ากาลเทศะมันไม่สู้จะเป็นใจ ความสนุกถูกห่อหุ้มด้วยสนิมอันเกิดแต่เนื้อในตน ความหวังสร้างยาก และพังง่าย ถ้อยคำหนามไหน่เดิมๆ วนเวียนกลับมาแทงแผลเก่า–ถ้ารู้เร็วกว่านี้สักสิบปีก็คงดี..
บางเรื่องคงต้องยอมจริงๆ เรานั่งไทม์แมชชีนไปดูละครตอนจบไม่ได้ อยากจะกะเกณฑ์กำหนดอนาคตโดยเอาแต่ใจก็ไม่ได้ ซึ่งว่าไปความลี้ลับนี้ก็มีเสน่ห์ มันอาจเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่มีวันหยุดพัฒนา ไม่รู้ จึงต้องขวนขวายแสวงหา ไม่ชัวร์ จึงต้องออกแบบ วางแผน เตรียมตัว สร้างเสริมพลังชีวิตไว้ให้พร้อมกับทุกปัญหาอุปสรรค
เจ็บก็ต้องยอมเจ็บ โดยเฉพาะกับปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ประเด็นก็คือผมคิดว่ามีบางเรื่องที่น่าจะทำให้เราไม่ต้องพูดว่า–เป็นเมื่อสิบปีก่อนนะ
เห็นมาเยอะแล้ว ฟังเรื่องเล่าเก่าๆ มาจนเอียน นาฬิกาแห่งชีวิตวันนี้ควรเป็นห้วงยามแห่งการขีดเขียนอนาคตใหม่ เรื่องแรก คุณเคยได้ยินคำว่า ‘ทำให้เด็กมันดู’ ใช่มั้ย เลิกความคิดนี้โดยเร็ว และเปลี่ยนตัวเองกลับไป ‘ดูเด็กมันทำ’ ศึกษาเฝ้าดูการเกิดของปรากฏการณ์ใหม่ๆ การเริ่มต้น หรืองานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ยกตัวอย่างส่วนตัวก็ได้ รอบเดือนที่ผ่านมานี้ผมได้เสพสัมผัสงานเขียนคอลัมน์ใหม่ของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world คนที่พอมีพื้นหลังมาบ้างย่อมรู้ว่า อีฟ ปาณิส เริ่มต้นฝึกงานครั้งแรกกับนิตยสาร WRITER เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือผมเห็นอีฟตั้งแต่เริ่มเขียน ก ไก่ ก กา เวลาไม่ถึงสิบปี อีฟเป็นมือสารคดีที่พาสองตีนไปคลุกเข้าถึงข้อมูล และเล่าเรื่อง ‘คนนอก’ ออกมาอย่างเข้าถึงหัวใจคนอ่าน และล่าสุดเพิ่มบทบาทมาเป็นคอลัมนิสต์กับ Sideway ที่เก็บตกสิ่งละอันพันละน้อยจากการเดินทางมาบดย่อยร้อยเรียงเสิร์ฟในจานใหม่ ดี-เลว เราอย่าเพิ่งพูด เพราะเกมคิกออฟมาไม่กี่นาที แต่คำว่านักเขียนที่เคยเป็นภาพฝันอยู่ไกลๆ นาทีนี้ ใครจะปฏิเสธลูกขอนแก่นนามนี้
ในเวลาใกล้ๆ กัน ‘วินเนอร์’ เด็กหนุ่มที่ผมพบเจอตามงานเสวนาศิลปะการเมืองก็ปล่อยซิงเกิลแรกลง YouTube
ตอนเจอกันครั้งแรกที่ร้าน On the Rose เขาเพิ่งเข้าเรียนดุริยางค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไม่นาน บางงานที่ จ.น่าน วินเนอร์ถือกีตาร์มาเล่น เพลงแล้วเพลงเล่าฟังดูก็รู้ว่า The Beatles คือคนดนตรียอดขวัญใจ แต่เขาคลึงคัดจัดระเบียบใหม่ สร้างมันออกมาด้วย ‘เสียงและแคแรกเตอร์’ ของตัวเอง ที่เคยบอกเล่าว่ากำลังแต่งเพลง (ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) ทำอัลบั้มอยู่ ไม่นึกว่าสี่ห้าเดือนถัดมาฝันนั้นจะสำเร็จเป็นรูปร่างกับอีพีแรก Purple Pink World (จากอัลบั้ม A Lonely Highway) โดยศิลปินหน้าใหม่ที่ชื่อ Passakorn
ผมไม่มีจริตในเซนส์ศาสดาพยากรณ์ อย่างที่กล่าวแล้ว โลกของปาณิสและวินเนอร์เป็นโลกของคนหนุ่มสาว เป็นทางเท้าก้าวแรกๆ ที่เขาและเธอหักล้างถางพงออกแรงเดินโดยไม่กลัวเหนื่อย เบื้องหน้า ณ เวลานี้คืองานแสดง เรามีหน้าที่ดู ใครจะอยู่สั้นอยู่ยาว ยืนระยะแค่ไหน ปล่อยให้ศิลปินเลือกวิถีและดวงดาวโดยอิสระ การงานของเราคือเฝ้าดู เรียนรู้เสพสัมผัส เกาะเกี่ยวยุคสมัยของคนหนุ่มสาวไว้ด้วยความเบิกบาน
ไม่ต้องวิ่ง เพราะยังไงเราก็วิ่งไม่ทัน ที่สำคัญคืออย่าสอน ถ้าอาชีพที่เราท่านดำรงอยู่ไม่ใช่ครูในโรงเรียนอนุบาล หากจงฟังและเฝ้าดู
การสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของคนใหม่ๆ คืออากาศ
บางทีก็คล้ายๆ แสงแดด ร้อนสักหน่อยถ้าอยู่ใกล้ แต่ห่างนานไปหัวใจเราจะอับชื้น เหี่ยวเฉา เป็นคนโง่เขลาที่ขังตัวเองอยู่ในแดนสนธยา
ถ้ารู้เร็วกว่านี้สักสิบปีก็คงดี–คำนี้จะไม่เกิดขึ้นในวัยร่วงโรย ถ้าตอนวัยรุ่น หรือในยามยังเป็นคนหนุ่มคนสาวได้ใช้ชีวิตตามเสียงเต้นในหัวใจ คิดอะไร อยากทำอะไร แล้วกระโจนลงไปลุยกับมันโดยไม่เงื้อง่าราคาแพงนัก ไม่ห่วง ‘กับดัก’ ตามสูตรสำเร็จเรื่องความมั่นคง เกาะเซฟโซนตัวเกร็งจนไม่กล้าเลี้ยวลองเข้าซอยใหม่ๆ อาหารไม่คุ้นลิ้น กังวลกับผู้คนแปลกหน้า
ผมพบว่าเงินคือข้ออ้างอมตะนิรันดร์กาล เดินทางไกลไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ได้ ใช้ชีวิตตามอุดมคติไม่ได้ เพราะกลไกในร่างกายสะกดจิตตัวเองไว้อย่างแข็งกร้าวว่าไม่มีเงิน คนไม่มีเงินทำอะไรไม่ได้หรอก
มันจริงแน่ๆ ว่ามีเงินย่อมมีโอกาสดีกว่า ชีวิตในหลายมิติง่ายกว่า ราบรื่นกว่า แต่ไม่จริงเลยที่คนเงินน้อยต้องยอมจำนน หรือกดตัวเองให้จมอยู่ในคุณภาพชีวิตตามค่าเฉลี่ยสังคมพิกลพิการที่รอซ้ำเติมว่าเป็นเพราะบุญบาปจากชาติภพที่แล้ว ถ้าไม่เอาแต่นั่งศิโรราบในจุดอ่อนและข้อตำหนิ บริหารจิตใจถูก สร้างความรู้เป็น เปิดดวงตามองนาฬิกาและคุณค่าสากลของโลก เงินน้อยเป็นอุปสรรคไม่มาก เงินน้อยแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ ทำสิ่งที่คิดที่ฝันได้ ประเด็นคือกล้าหาญพอหรือเปล่า ตกหลุมกับดักที่คนรุ่นก่อนสอนให้กลัวไปทุกย่างก้าวหรือเปล่า เหนืออื่นใด รู้หรือยังว่าตัวเองโง่ ถ้ารู้.. มีวิธีไหน ทำอย่างไรให้ล่วงหลุดออกมาจากกองขี้เลื่อยและคำหลอกลวง
ถ้ารู้เร็วกว่านี้.. เวลาได้ยินคำพูดทำนองนี้ ไม่ว่าจากปากผู้อื่นหรือเสียงทอดถอนหายใจของตัวเองในบางค่ำคืน แปลว่ามีสองสิ่งผิดพลาดบกพร่อง สองสิ่งที่ต้องรีบปรับปรุงพัฒนา ช้าไม่ได้ ผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ หนึ่งคือเวลา และสอง, ความรู้ อย่างแรกเป็นต้นทุนที่เรามักประเมินต่ำเกินไป ให้ค่าความหมายน้อยเกินไป กระทั่งเผลอคิดว่าเป็นของฟรี ส่วนอย่างหลัง ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ไม่มีความรู้ แต่มักมีความรู้ชุดเดียว ชุดที่ถูกตัดเย็บออกมาจากชั้นเรียนจารีต ความหลากหลายคืออะไร ไม่รู้จัก
‘เวลาและความรู้’ บริหารจัดการผิดอย่างใดอย่างหนึ่งยังเกิดรอยแผลรูรั่วในระดับทำเรืออัปปางได้ ลองนึกดูว่าถ้าเหลวไหล ไม่รู้ตัว สอบตกทั้งสองเรื่อง หายนะจะมหาศาลขนาดไหน
นอกจากได้เสพศิลปะ รู้กระแสสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ดูเด็ก ดูการเริ่มต้น ศึกษาติดตามการสร้างสรรค์ใหม่ๆ สอนให้เราละวางอีโก้ เขย่าความแก่ไม่ให้แช่แข็งอยู่ในห้องเก็บของ สองมือที่เคยชินกับการชี้นิ้วและรับไหว้ปรับโหมด ย้ายหมวดไปปรบมือ เด็กทำดี ก็ชื่นชมโค้งคารวะให้เด็ก
มันไม่ง่ายหรอก เพราะเผ่าพันธุ์ของเราเสพติดนิสัยแย่ๆ ที่แก้ยากเหลือเกินคือการวางตนอยู่เหนือ
การชื่นชมผู้อื่น โดยเฉพาะผู้เยาว์กว่า เป็นสปิริตที่ต้องฝึกสร้างให้เป็นคุณค่าใหม่ กล้าหาญในการเดินลงสนามความรู้ที่หลากหลาย ผมเห็นว่ามีแต่นิสัยและสปิริตแบบนี้เท่านั้นที่จะสร้างสมดุลใหม่ให้กับเรื่องเวลาและความรู้ ทำให้ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ในสิ่งที่ผ่านล่วง สายเกินจะแก้
ในกาลข้างหน้า ‘ถ้ารู้เร็วกว่านี้..’ จะเป็นเสียงแห่งอดีตที่เราไม่ต้องพูดกันอีก.
เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์