วันนั้นเป็นวันหวยออก ตามซอกซอย ร้านค้า บ้านเรือน ตลาดสด ในตัวอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ทีวีและวิทยุถูกเปิด รอฟังผลเทพีแห่งโชค ไม่ไกลจากสี่แยกไฟแดง พ่อค้าหมวกฟางกำลังนั่งมวนยาสูบพักเหนื่อยริมข้างทาง เชื้อชวนด้วยความสุภาพสำเนียงอีสานให้แวะชมสินค้ากระปุกออมสินปูนปลาสเตอร์รูปทรงสรรพสัตว์ ทั้งหมู หมา ไก่ เสือ กบ กิ้งก่า โดราเอม่อน ฯลฯ
“เลือกได้เลย มีหลายราคา” เขาพ่นควัน บ่นแทงหวยไม่ถูก และบอกว่าเศรษฐกิจมันแย่ลงเรื่อยๆ เหมือนที่วันนี้กระปุกออมสินยังอยู่เต็มกระบุง
บุญวัน กำแก้ว อายุ 47 ปี บ้านอยู่อุดรธานี เดินทางมาจากพิจิตร ติดรถเถ้าแก่มาหาบเร่ขายของ
“พ่อแม่ไม่มีเงิน สมัยนั้นคนบ้านผมก็เลยบ่ค่อยนิยมเรียน จบ ป.6 เข้ากรุงเทพฯ ไปหางานก่อสร้างทำ ผมไปเป็นช่าง แบกไม้ เทปูน ทำงานวันหนึ่งได้ 120 บาท เดี๋ยวนี้ค่าแรง 300 บาท น้ำมันลิตรหนึ่ง 40 แกงถุงละ 40 ข้าวก็แพง เมื่อก่อนแกงถุงหนึ่ง 10 บาท เหลือเก็บดีกว่าทุกวันนี้อีก เราคนรากหญ้า ก้มหน้ารับกรรมไป”
เวลาเกือบห้าโมงเย็น หลายคนในเมืองนี้คงเหือดแห้งผิดหวังจากการพลาดรางวัลที่หนึ่ง แต่บรรยากาศหมาดฝน ลมโชยมาเป็นระยะ ทำให้กลางเดือนมีนาฯ ไม่ร้อนเกินไปนัก นี่คือบทสนทนาครู่หนึ่ง ชั่วขณะนั่งพักเหนื่อยของชายผู้ที่เว้นว่างจากการทำนามาเดินเร่ขายของ
เรียกตัวเองว่าอาชีพอะไร
ค้าขาย เป็นงานเสริม ไปนอนรอเกี่ยวข้าวอย่างเดียวมันไม่เหลือหรอก ถามว่าทำนาอยู่ได้มั้ย อยู่ได้เสมอตัว แต่บางทีก็ติดหนี้ มาหาบเร่ขายของ เวลาซื้อยาสูบก็มีเงินสดไปซื้อเอา ถึงหน้าเกี่ยวข้าวเหลือน้อยเหลือมากไม่กดดัน เพราะไม่ต้องไปคอยเซ็นเขา
ชอบมั้ยอาชีพค้าขายหาบเร่แบบนี้
ตอนแรกอาย ไม่กล้า เห็นคนก็ก้มหน้า มาหาบของขายมันไม่เคย เกิดจากท้องพ่อท้องแม่ไม่เคย ต้องรอให้คนเรียกซื้อเท่านั้นแหละถึงจะกล้าหยุดขาย ตอนหลังบอกกับตัวเองว่าถ้าอายก็ขายไม่ได้ ยิ่งแบกมากยิ่งหนักนาน ก็คิดได้ว่าคนที่ไม่ทำมาหากินน่าอายกว่าคนทำมาหากิน คนทำมาหากินไม่ได้หลอกลวงใคร ซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อผมก็ไป ผมเคยถามลูกว่า ไอ้หนู อาชีพพ่อแบบนี้ เวลาไปเรียน อายเขามั้ย ลูกบอกว่าอายทำไมพ่อ เราไม่ได้ไปคดโกงใครเขา เงินบริสุทธิ์
ปลูกข้าวช่วงไหน มาหาบของขายช่วงไหน
ปลูกข้าวเดือนเจ็ด หว่านเสร็จ ฉีดยาคุม ผมก็ไม่อยู่นาแล้ว จะอยู่บ้านประมาณอาทิตย์หนึ่ง แล้วออกมาขายของ ให้แม่บ้านดูแลไป สมัยนี้ทำนาไม่ต้องอยู่ด้วยกันหรอก มันจ้างทุกอย่าง ฮัลโหล ฉันจะเกี่ยวข้าวนะ รถก็มาแล้ว ฮัลโหล พรุ่งนี้ฉีดยานะ มันก็มาฉีดให้
มีที่นา 50 ไร่ อยู่ที่พิจิตร เป็นนาแม่ยาย ไม่ใช่ของผมหรอก แม่เมีย มีลูกสี่คน เขาก็ยังไม่ได้แบ่งสรรปันส่วน แต่ลูกเขาสามคนไม่มีใครทำนา คนหนึ่งขายก๋วยเตี๋ยวอยู่กรุงเทพฯ อีกคนทำงานโรงงาน น้องเมียอีกคนก็ไม่ทำ มีแค่เมียกับผมที่ทำนาเลี้ยงพ่อตาแม่ยาย ดีหน่อยที่นาไม่ต้องเช่า ส่วนที่มาขายของ จะอยู่ไม่ถึงเดือน ประมาณ 20 กว่าวันของหมดรถ เขาก็พากลับแล้ว ถ้าต้องไปเดินขายแถวในตัวอำเภอ จะอยู่อำเภอละประมาณ 3 วัน
พักที่ไหนเวลามาขายของ
นอนตามปั๊ม ตามวัด ตามใต้สะพานมั่ง มากันด้วยรถกระบะมีคอก เอาของบรรทุกมา มีพ่อค้า 4 คน นั่งข้างหน้า คนขับอีกคน เขาจะพาไปนอนในสถานที่ประจำที่เคยมาขายทุกปี จะรู้ว่ามาขายแถวไหนต้องไปนอนตรงไหน
แบกมากี่ปีแล้ว
อายุ 18 ไปอยู่ระยอง ปี 36-38 ทำงานก่อสร้าง ได้เมียตอนอายุ 20 พ.ศ. 40 มีวิกฤติฟองสบู่แตก เงินบาทลอยตัวครั้งแรก เศรษฐกิจประเทศไทยแย่ ผู้รับเหมาไม่ออกเงินให้ เมียเลยพากลับไปอยู่บ้านที่พิจิตร มาทำงานหาบขายของตั้งแต่ พ.ศ. 40 ยันทุกวันนี้
ไปเจอแฟนที่ไหน
ที่ระยอง ทำงานก่อสร้างเจอกัน แฟนจบ ป.6 เหมือนกัน สมัยก่อน ค่าสินสอด 5,000 บวกค่าผูกแขน เพิ่มเงินเลี้ยงเหล้าขาวนิดหน่อยตามแบบฉบับช่างก่อสร้าง ก็ธรรมดา ไม่ต้องมีชุดวิวาห์ ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อยืด มีอะไรก็ใส่ไป นั่งลง ผู้เฒ่าก็มาผูกคอเตาะแขน มีแขกเก้าคนสิบคนในงาน อยู่ด้วยกันมาจนทุกวันนี้ สมัยนี้แต่งงานหมดเป็นสองสามแสนเลยหนา
ทำไมถึงเลือกคนนี้
ก็คนแคมป์ก่อสร้างมันบ่มีสิทธิ์เลือก มันมีผู้สาวอยู่บ่กี่คนหรอก ประมาณสองสามคน ผู้ชายในนั้นก็แย่งกัน โอ๊ย มันบ่เหมือนโรงงาน ดวงคงได้กันด้วยมั้ง (หัวเราะ)
ทำไมเลือกไปอยู่บ้านแฟน ไม่พากลับไปอยู่อุดรฯ บ้านเรา
ไปอยู่อุดรฯ แล้ว บ่ถูกกับแม่ผม คือว่าแฟนผมคนไทยทำกับข้าวจะเป็นพวกผัดกะเพรา พวกทอด พวกแกง ส่วนแม่ผมชอบใส่ปลาร้า ไอ้ลูกสะใภ้ก็กินของที่บ้านไม่ได้ กับข้าวบ่เหมือนกัน ไอ้คนลำบากใจ คนหนักใจก็เป็นคนกลางอย่างผมใช่บ่ ประสาทจะกิน จะทำยังไงให้ทุกฝ่ายสบายใจก็เอาแบบนี้ละกัน กลับมาอยู่พิจิตร ก็อยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ วัฒนธรรมมันต่างกัน เมียผมเฮ็ดบ่เป็นเลยกับข้าวอีสาน เขาโตมาแบบนั้น บ่ลงรอยกัน
ได้เมียมา แม่ว่าไงบ้าง
ก็บ่ว่าหยัง ใหม่ๆ มันก็ดีอยู่ ปีครึ่งปี หนักเข้าๆ เริ่มมีปัญหา กระท่อนกระแท่น คนเฮาถ้าหมดเงินก็ทะเลาะกัน เมียผมเลยว่าไปอยู่พิจิตรมั้ยพี่ พิจิตรอย่างน้อยๆ เรายังได้ไปขายกระปุกออมสิน ผมก็ลองดู ทำไปได้สองปีโดนจี้ตอนไปขายแถวอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มันมาจี้เอาตังค์ เอามีดปลอกผลไม้แทงผมเข้าแขน (ถลกแขนเสื้อให้ดูรอยแผลเป็น) ผมเอาแขนบังไว้ ถ้าไม่ติดกระดูกคงตาย
ตอนที่โดนปล้นมีเงินอยู่เท่าไหร่
มันได้ไป 300 วันนั้นผมขายได้เงิน 500-600 สมัยนั้นถือว่าได้เยอะ ผมเอาส่วนหนึ่งใส่กระดาษและยัดใต้ตูดหาบ อีก 300 ใส่กระเป๋าสะพายติดตัวไว้ เถ้าแก่จะพาไปปล่อยให้เดินขายตามร้านปะยาง ตามสวนยาง เป็นละแวกชนบท เจอพวกขี้ยา ขี่รถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ เป็นคนใต้ ผมสังเกตว่ามันมาเดินดูตั้งแต่ตอนเช้า ผมเห็นหน้าพวกมันสามครั้ง ตอนเช้า สิบโมง ตอนบ่ายโมงก็เห็นพวกมันอีกบักสองคนนี้ ซ้อนกันมา ดูผิดสังเกต ทำไมสองคนนี้เห็นบ่อยจังวะ มันมาจี้ผมตอนบ่ายสี่โมงเย็น
กระปุกออมสินเป็นธุรกิจของที่บ้านแฟน ?
เป็นของกลุ่มแม่บ้านหนองพง ตำบลทุ่งใหญ่ อำโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร มีเถ้าแก่เป็นพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านแฟน หมู่บ้านนั้นจะเป็นคนรวยหน่อย มีรถก็ไปรับสินค้าจากกลุ่มแม่บ้านมาขาย ส่วนใครจะมาหาบก็ลงแต่แรง ไม่ต้องลงทุน ได้กำไรดีเหมือนกัน อย่างที่เป็นตัวเล็กสุด (ชี้ไปที่สินค้าในหาบ) เขารับ 15 มาขาย 20 ผมก็ได้เงิน 5 บาท แต่พูดตามจริง รับมาจากต้นทางประมาณ 7 บาท มาขาย 15 บาท เพราะต้องบวกเป็นค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ให้ค่าแรงลูกน้อง ต้องขาย 20 บาท ลูกน้องได้คนละ 5 บาท ถ้าเป็นตัวใหญ่ลูกน้องจะได้ตัวละ 20 หักกำไร หักเปอร์เซ็นต์อีกร้อยละยี่ ถ้าเอาแต่เปอร์เซ็นต์ก็อยู่กันบ่ได้ดอก อย่างตัวนี้ (ชี้ไปที่กระปุกออมสินขนาดกลาง) จะขาย 160 ถ้าลูกค้าบ่ต่อเลยจะได้กำไร 30 บาท บวกเปอร์เซ็นต์อีก 20 ก็จะได้ตัวละ 50 บาท แต่มันน้อยคนมากที่จะบ่ต่อ ลุงขอ 150 ได้มั้ย ลุงขอ 130 เถอะนะ บางคนต่อจนขายบ่ได้เลย (หัวเราะ)
ขายอะไรได้วันนี้
มีแม่ค้าช่วยซื้อหมูตัวใหญ่ไป 200 บาท ขายตัวใหญ่ได้ก็ดี ได้เปอร์เซ็นต์ง่าย และเบาด้วย ค้าขายแบบนี้เหมือนไปหาปลา บางวันหมานก็หมาน บางวันบ่หมานก็บ่หมานเหมือนกัน วันนี้ขายสองตัวได้เงิน 60 บาท รอไปรวมกับพวกตัวเล็กๆ บ่รู้จะส่งทุนเขากี่ร้อย ตัวเล็กขายได้อยู่บ้าง เฉลี่ยพันหนึ่งก็ได้สองร้อย โดยเฉลี่ย วันๆ หนึ่งได้สามร้อยกว่าบาท แต่บางวันที่ฟลุกขายได้ 500-600 ก็มี วันไหนที่ขายเกือบหมดหาบก็มี อาทิตย์หนึ่งจะมีสองสามวันที่ขายได้ วันขายบ่ได้ก็มี ค้าขายแบบนี้เดือนหนึ่งได้อยู่เป็นหมื่น เพราะผมไม่กินเหล้า ดูดแต่ยา (ยาเส้นห่อละ 10 บาท) กินแต่ข้าว ทางเหนือดีอยู่อย่าง แค่ซาวบาทก็อิ่ม แต่โซนภาคกลางยี่สิบบาทได้แค่นิดเดียว (หัวเราะ) ถ้าคนกินเหล้าก็ต้องซื้อข้าวยี่สิบ แกงยี่สิบเป็นสี่สิบ เหล้าอีกขวดหนึ่งหกสิบ ตกวันละร้อย แต่ผมซื้อแต่ข้าว ซื้อมาถุงหนึ่งมาหารกันกับคนอื่น
เดินมากี่โลฯ แล้ววันนี้
ไม่ได้นับ เดินมาตั้งแต่ปั้ม PT มานี่ (บริเวณสี่แยกไฟแดงในตัวเมืองเวียงสา ระยะทางจากปั๊มราว 2 กิโลเมตร) และจะเดินไปรอขึ้นรถแถวปั๊มหอยเหลืองๆ นั่นแหละ แต่ที่แบกอยู่นี่น้ำหนัก 50 โลฯ
ผมต้องเดินเลาะขายไปเรื่อยไม่มีจุดหมาย เดินตามซอกซอย ถ้าบ่เดินก็บ่ได้ขาย ต้องเดินแวะตามบ้านคน ตามที่ต่างๆ ทั่วไป ความอยากได้เงิน งานผมบ่เหมือนของกิน ของกินบ่ต้องเดินก็ได้ขาย ของผมต้องซอกแซก
ถ้าข้าวก็หนักกว่า ?
แต่เราหาบข้าวมันยังมีจุดหมาย ไปถึงก็ได้เท แต่ขายของนี่ไม่มีจุดหมาย ถ้าขายไม่ได้ก็หน้าร้าวสิ 50 โลฯ อยู่นั่นแหละ ถ้าเราขายไวก็เบาไว ขายไม่ได้ก็รับกรรมไป
ขนของมาเยอะมั้ยแต่ละเที่ยวที่มา
สองตันครึ่ง เต็มรถ เถ้าแก่จะคำนวนว่าของขนาดนี้ จะรุดหน้าหรือถอยหลัง ถ้ารุดหน้าไป ค่าน้ำมันก็แพง ถ้ารุดหลังอาจจะขายหมดมันแล้วแต่เขา ขายไม่ได้เลยไม่เคยมี คนที่ซื้อส่วนใหญ่ก็แม่ค้า คนทั่วไป เดือนนี้มาลงภาคเหนือ เดือนต่อไปก็อีสาน อีกเดือนก็ชลบุรี โดนจี้ก็เลยไม่ลงใต้
จบจากขายที่น่านจะไปไหนต่อ
ไปพะเยา ขายแถวหน้ามหา’ลัย ขายในเมือง และวิ่งเข้าเชียงราย มาทุกเที่ยวจะหมดที่เชียงราย ก็แล้วแต่เถ้าแก่จะพาไป ถ้าของเหลือน้อยบางทีออกจากน่านจะไม่เข้าพะเยา อาจไปเด่นชัย เข้าลำปาง ไปตราด แล้ววิ่งเข้าพิจิตรกลับบ้าน เขาจะคำนวณตามจำนวนของที่เหลือ
ยังขายได้เหมือนเดิมมั้ย
ก่อนจะมีโควิดไม่กดดันขนาดนี้ ขายดีกว่า ตอนนี้เข้าไม่ถึงตัว เมื่อก่อนเห็นคนเดินเข้าไปหาได้เลย ทุกวันนี้ไม่มีใครอยากให้เข้าใกล้ อย่างว่าแหละโรคภัยแบบนี้ แต่ถ้ากลัวอยู่บ้านก็อดตาย ตอนล็อกดาวน์สามเดือนนั้น คิดว่าทำอะไรดีจะได้เงิน ผมต้องไปเกี่ยวหญ้าคามากองขาย ถามว่าเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 ที่เขาให้มันพอมั้ย มันไม่พอ
เซ็งมั้ยรัฐบาลประยุทธ์ ?
ประชาชนเขาก็พูดกันแบบนั้น อย่างว่ามันปกครองด้วยระบบทหาร รัฐประหารเข้ามาแย่เลย พูดไปบ่ได้ดอก รู้มากก็ไม่ได้ โดนเก็บอีก พอไม่รู้ก็ว่าเราโง่
แบกมา 20 กว่าปี เคยคิดจะทำอะไรอย่างอื่นมั้ย
ไม่มี ช่วงนี้ยังเปลี่ยนไม่ได้ ต้องส่งลูกเรียนให้จบก่อนค่อยเปลี่ยน เพราะถ้าเปลี่ยนก็หมายถึงไปเริ่มต้นใหม่ มันชินกับงานที่ได้เงินเร็ว ลูกโทรฯ มาก็โอนได้เลย ถ้าไปทำอย่างอื่นต้องไปเริ่มนับศูนย์ใหม่ มันยาก งานนี้อาศัยว่าร่างกายคุ้นชินกับการแบกหามแล้ว คนเขาคุ้นหน้าตา เห็นก็ควักมือเรียก ลุงแวะก่อน อาศัยชั่วโมงบินเยอะ มาค้าขายของหาบแบบนี้ ถึงจะเหนื่อยก็ได้เงินเลย ไม่ต้องรอตัดวิก ไม่ต้องรอเงินออก คนเราเหนื่อยๆ มาเห็นได้แบงค์แดงก็ดีใจแล้ว
มีลูกกี่คน
สองคน เป็นผู้หญิงทั้งคู่ คนเล็กเรียนวิศวะ มหา’ลัยฯ สุรนารี โคราช หน่วยกิตละ 800 ไปอยู่หอ สอบได้ที่นู้น คนโตเรียน ม.นเรศวร พิษณุโลก ปีสุดท้ายแล้ว
ส่งลูกคนโตเดือนละเท่าไหร่
เป็นบางเดือน แต่ส่งค่ากินอาทิตย์ละ 2,000 บาท ค่าหอ 2,500 เบ็ดเสร็จแล้วหมดเยอะเหมือนกัน เพราะเรียนพยาบาล แต่คนเล็กค่าเทอม 16,000 จ่ายปีละสามเทอม ค่าหอ 2,500 ค่ากินอาทิตย์ละ 2,000 อาศัยใช้เงินจากทำนาที่เก็บฝากไว้โอนไปให้ลูก บางทีขายของได้ก็โอน ถ้าไม่มีนาเป็นหลักก็แย่ ลูกกำลังเรียน มันไม่มีเงินออกหรอก ลูกคนไหนใครเดือดร้อนเงินหมดก็โทรฯ หา ฮัลโหล พ่อเงินหมดแล้วนะ เราวิ่งเข้าเซเว่นฯ ไปโอน เมื่อวานก่อนโอนไป 8,000 โอนเมื่ออาทิตย์ก่อน 5,000 สลิปก็เก็บไว้อยู่ (หยิบสลิปขึ้นมาให้ดู) โอนไปให้ทางแม่บ้าน เขาก็เอาไปแจกจ่ายให้ลูกอีกทีหนึ่ง เมียอยู่ที่พิจิตรเฝ้าบ้าน ผมให้เมียจัดการเรื่องเงิน เขาจะมีเทคนิคในการพูดให้ลูกเข้าใจว่าเอาเงินไปใช้ ไปทำอะไร เหตุผลต้องมี ถ้าลูกโทรฯ มาหาผม ผมไม่ค่อยอะไรมาก โทรฯ มาก็โอนให้เลย แม่เขากลัวว่าลูกจะเอาไปใช้สุรุ่ยสุร่าย ผมมีหน้าที่หา ได้เท่าไหร่ก็โอนเข้าบัญชีแม่บ้าน ขายข้าวทีหนึ่งก็จะโอนเข้าบัญชีแม่บ้านเหมือนกัน แม่บ้านผมไม่ได้บัตรคนจน เพราะเงินสะพัด อย่างขายข้าวทีหนึ่ง 40 เกวียน เกวียนละ 6,000 ปีหนึ่งสองครั้ง แต่ถามว่าเงินนอนมีมั้ย เหอะ ได้มาก็ไปเบิกให้ค่ารถปั่น รถเกี่ยว ค่าหยูกค่ายา เลยไม่ได้บัตรคนจน เพราะว่าเงินมันเข้าเยอะ ผมขายของปีหนึ่งโอนเข้าบัญชีแม่บ้านเยอะนะ แต่มันเข้าแล้วออกเลย (หัวเราะ) ทีนี้รัฐบาลเขาตรวจเช็ก เขาไม่เช็กว่าจนจริงหรือจนไม่จริงหรอก เขาเช็กว่าเงินเข้าเฉยๆ คนละครึ่งผมก็ไม่ได้ ได้บัตรคนจน เพราะผมไม่มีอะไรเลย ส่วนเมียผมไม่มีบัตรคนจน ได้คนละครึ่ง ทั้งๆ ที่เราเป็นประชาชนของประเทศนี้ ทำไมถึงเช็กประวัติกันไม่ได้
ทุกบาททุกสตางค์ให้ลูก ?
ให้ลูก
หวังอะไรกับลูกมั้ย
ไม่ๆ ไม่จำเป็น แค่มันไม่โทรฯ มาขอเงินก็พอแล้ว (หัวเราะ)
อยากให้ลูกช่วยมั้ย
ไม่หรอก ให้มันเรียนจะได้ไม่ต้องมาลำบากเหมือนพวกผม แถวบ้านผม 18-19 มีเมียกันแล้ว สังคมชนบทอย่างว่าแหละ ได้กันก็บ่มีหยัง โต่งเล่งต่องแล่งกันอยู่แถวบ้านนั่นแหละ ผมบอกลูกว่าถ้าไม่เรียนจะไม่มีอนาคต เด็กมันรู้ว่าได้กันมามันก็ไม่มีอะไร จะเอากันตอนไหนก็ไม่สาย เรียนให้จบให้มีงานทำ อีกอย่าง จะได้ไม่ต้องมาเจออะไรแบบที่ผมเจอ อย่างหาบไปขายตอนเย็นเจอขี้เมาก็มี บางทีกินเหล้าอยู่แกล้งเรียกเราไป มานี่หน่อยพ่อค้า ขอตัวหนึ่งสิ เราเหนื่อยมามันก็หงุดหงิด ก็ต้องข่มอารมณ์ไว้ แบบที่เรียกเราไปกวนตีนก็มี เจอคนที่ดีเหมาแจกลูกแจกหลาน ถามว่าเหนื่อยมั้ย ก็มี แต่มันน้อย บางคนเมาแล้วนักเลงจะเอาฟรี จะเอาถูกๆ ก็มี เจอทุกอย่าง เราทำมาหากิน เราคนจน ถามว่ากลัวมั้ย ผมไม่กลัว ตำรวจเข้าข้างคนทำมาหากินอยู่แล้ว แต่ทำมาหากินยังไงต้องกลับมาอีก ก็ต้องทำใจช่างมัน อย่าไปมีเรื่องกับเขา อาชีพผมบ่อายเขา ให้ครอบครัวอยู่ได้ บ่เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง บ่ไปคดโกงใครเขา ภูมิใจแล้ว
กลัวมั้ยมีลูกสาว
กลัวเหมือนกัน แล้วแต่พวกมัน เราเลี้ยงได้แต่ตัว หัวใจเขาเราเลี้ยงไม่ได้ ถ้าให้คิดเปรียบเทียบว่าฐานะเราเป็นแบบนี้ คนที่ได้กันมาก่อน หนูก็เห็นแล้วว่าเป็นแบบไหนก็คิดเอา ไอ้เราจะไปห้าม อย่านะลูกมันก็บ่ได้ ต้องปล่อย ต้องทำใจ ไปขายของ เห็นนักศึกษามากันเป็นคู่ ก็ทำใจแล้ว
ทำงานให้เงินคนอื่น กับตัวเองให้อะไรบ้าง
ไม่มี ขอให้มีเงินหมุนรอบตัวแค่นั้น ภูมิใจแล้ว ทุกวันนี้เป็นหนี้ประมาณ 70,000 เงินกองทุนหมู่บ้าน เงินสัจจะ เงิน ธกส. เคยกู้มา 50,000 มาปรับปรุงที่นา แล้วก็กู้มาอีก 50,000 มาเจาะบ่อ แต่ก็ไม่ได้เจาะหรอก เอามาใช้อย่างอื่น ส่งไปให้ลูกต้องใช้โน้ตบุ๊ก โน้ตบุ๊กก็ตั้ง 27,000-28,000 เด็กนักศึกษา ถ้าไม่มีไม่ได้ มันต้องมี ผมก็ไปโกหกหัวหน้า ธกส. ว่าจะเอาเงินไปเจาะบ่อ ถ้าไปบอกกันตามความจริง เขาไม่ให้หรอก เขาสนับสนุนการเกษตร
จะใช้หนี้ที่มีอยู่หมดเมื่อไหร่
ในช่วงโควิด หนี้ ธกส. ช่วงนี้ไม่ต้องส่ง พักหนี้ คิดว่าจะใช้ให้หมด วางแผนไว้น่าจะช่วงที่ลูกเรียนจบ เงินก็คงจะเหลือ เงินเก็บพอมีอยู่ 40,000-50,000 ในบัญชีแม่บ้าน แต่เวลาช็อตจะไปหายืมใครได้
สวัสดิการมีอะไรบ้าง
มีบัตรทอง ทำประกันชีวิตกับ ธกส. เป็นค่าฌาปนกิจ ปีหนึ่งก็ตก 6,000-7,000 ปีนี้คนละ 2,900 จ่ายสองคนผัวเมีย (หัวเราะ) มีจ่ายฌาปนกิจกิจตำบล ฌาปนกิจกิจเงินล้านหมู่บ้าน ศพละ 1,000 บาท สมมติมีคนในหมู่บ้านถ้าตายคนหนึ่ง คนนั้นเป็นสมาชิกเงินล้าน ผมก็เสีย 2,000 สองคนผัวเมีย แต่ว่าถ้าเราตายจะได้อยู่ 60,000
ตายไปก็ไม่ได้ใช้เงินอีก
ก็ยังดีที่ลูกไม่ต้องมากู้หนี้ยืมสินจัดงานศพ คนไม่ทำอะไร ตายแล้วเคว้งคว้างลำบากคนอยู่ เมียหรือลูกหลานจะไปกู้เงินใคร ทำไว้ศพละ 1,000 มันไม่มากหรอก ไม่ได้ตายกันทุกวัน ตายปุ๊ปก็พอได้แก้หน้า แก้ขัด มีเงินทำข้าวต้ม ทำก๋วยจั๊บให้แขกที่มางานได้กิน
วางแผนบั้นปลายชีวิตไว้มั้ย
บ่ได้วางดอก ทำไปจนกว่าจะทำไม่ไหว จะมารอให้ลูกส่งกิน บ่เอา
มีความฝันอยากเป็นอะไรบ้างมั้ยในชีวิต
อยากเป็นตำรวจ เห็นเขาเท่ดี ทุกวันนี้มีลูก บ่มีความฝันอะไรแล้ว มีคนให้ไปเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน ผมก็บ่อยากเป็น บ่มีเวลา เขาอยากให้เป็นเพราะว่าผมเป็นคนกล้าพูด กล้าจา กล้าทำ แต่ผมบ่ได้อยู่บ้าน บ่ได้เข้าประชุม ถ้าได้เข้าประชุมผมจะบอกเลย อันไหนบ่ถูกคือบ่ถูก พอเป็นคนตรงเกินไป เขาก็บ่ยอมรับดอก สังคมเรา ใครพูดอะไรก็เออออตามไป จริงๆ แล้วมันบ่ได้ บ่ถูกก็บอกว่าบ่ถูก ผมเป็นคนตรงๆ เพราะถ้าไม่มีความโปร่งใส หมู่บ้านเฮามันก็บ่เจริญ ไอ้ผมมันคนตรง แต่รู้มากก็บ่ดี เขาชัง
คิดว่าจะแบกแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่
ให้ลูกจบก่อน ลูกจบอาจจะดาวน์รถเก่าๆ สักคัน รับเอง ขายเอง ตามตลาดนัด จะได้ไม่ต้องหาบ ไม่ต้องกดดัน ตอนนี้รถมันดาวน์ไม่แพง ผมกลัวรายเดือน คนเราเดือนไหนไม่มีเงินก็ไม่มี ค่าไฟในบ้าน 500 จะจ่ายยังไม่มี มีรถ ไหนจะค่าน้ำมัน ไม่ได้ขับไปไหน เอามาจอดไว้ก็เสียภาษี ดาวน์เท่าไหร่ก็ดาวน์ได้ แต่รายเดือนนี่แหละ ไหนจะส่งรถ ส่งลูก ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โอ๊ย ยังก่อน (ลากเสียงสูง) รถนี่ไม่สายเลย เดี๋ยวมันออกมาใหม่ยิ่งดีกว่านี้ (หัวเราะ) กลางคืนนอนบ่ฝันเลย มันล้า ขอให้ได้สักสามสี่ร้อยเถอะนะ มื้อนี่
(หมดเวลาพักเหนื่อย เขาขอตัวแบกสินค้าออกเดินต่อ).
nandialogue
เรื่องและภาพ: อธิวัฒน์ อุต้น