สวัสดีครับผู้จัดการหนึ่ง
ผมคุยกับคนบนเกาะมาหลายสิบทั้งไทยและต่างชาติ แต่ละคนอยู่เกาะกันมาสิบกว่าปีทั้งนั้น
อาจเป็นเพราะโควิดด้วยอ่ะครับ ที่ทำให้พะงันตอนนี้มีแต่คนย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า
เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติย้ายออกจากเกาะ บ้างอยากไปอยู่ประเทศที่มีวัคซีนดีๆ ฉีด และบ้างก็อยากหนีไปจากประเทศที่บังคับให้ฉีดวัคซีนห่วยๆ
คนมาใหม่มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีมาตรการป้องกันโควิดต่างๆ นานา ยิ่งทำให้จำนวนคนเข้าน้อยลงไปอีก เพิ่งมีแค่ครั้งเดียวที่พบว่าเป็นผู้มาเยือนที่ใหม่กว่าผม
วันนั้นหลังจากพากันทำกิจกรรมเก็บขยะริมชาดหาดกับทางโรงเรียนเจ้าลูกชาย ผมกับครอบครัวก็ไปกินข้าวที่ร้านอาหารญี่ปุ่นตรงข้ามท่าเรือ ระหว่างรออาหาร ได้พูดคุยกับครอบครัวชาวต่างชาติที่เพิ่งขึ้นเกาะมาได้ไม่กี่วัน
และลูกเขาก็จะเรียนโรงเรียนเดียวกับลูกชายผม คุยไปคุยมาทราบว่าพวกเขามาจากอิสราเอล
ชุมชนชาวอิสราเอล (ยิว) ที่เกาะพะงันน่าจะใหญ่พอสมควร ผมลองค้นอินเทอร์เน็ตดูพบว่า ประเทศไทยติดหนึ่งในสิบของประเทศที่เหยียดชาวยิว (anti-semetic) น้อยที่สุด
โค้ชฟุตบอลที่ศิลป์ไปเรียนสัปดาห์ละสองครั้งก็เป็นยิว
เด็กชายวัยเก้าขวบที่เพิ่งตายที่หาดริ้น เพราะโดนแมงกะพรุนกล่อง ก็เป็นเด็กชาวยิว
ครอบครัวเพื่อนบ้านเราในรีสอร์ทก็เป็นยิว
ผมเขียนว่ายิว เพราะผมพูดกับพี่ และมันเขียนสะดวกกว่า ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะไม่เขียนอย่างนี้ เพราะมันไม่พีซี
เค้าจะเรียกกันว่า ชาวอิสราเอล (Isaeli) หรือไม่ก็ชาวยิว (Jewish People) เรียกยิวเฉยๆ บางทีมันมีนัยยะทางลบ และอาจเป็นคำด่าได้ คือถ้าเป็นคำกริยามันแปลว่า ‘ขูดรีด’ ได้เลย
ความหมายของคำเต็มไปด้วยนัยยะทางประวัติศาสตร์ที่จริงบ้างเท็จบ้างปนกันไป ไม่รู้คำว่า ‘ไทย’ จะเป็นอะไรได้บ้างในสายตาชาวต่างชาติ
ภรรยาเคยเล่าให้ฟังว่า เคยถามบาร์เทนเดอร์ชาวพม่าที่รีสอร์ทว่าไม่ชอบนักท่องเที่ยวชาติไหนบ้าง เขาตอบว่าอิสราเอลและรัสเซีย ผมถามเรื่องนี้กับแอนดี้ ฝรั่งชาวอังกฤษเจ้าของรีสอร์ท (คนที่เรียกผมอย่างมั่นใจว่าจอห์น ตั้งแต่วันแรกที่มาน่ะครับ) แกพอเข้าใจในคำตอบของบาร์เทนเดอร์
หลายปีก่อนแกเคยประสบเหตุการณ์ไม่น่าพิศมัยของชาวยิวมาเหมือนกัน
ก่อนเล่าแกอธิบายว่ามันน่าจะเป็นปัญหามาจากระบบการศึกษา ที่อาจทำให้คนอิสราเอลคิดว่าชนชาติตนเองเหนือและดีกว่าคนชาติอื่นๆ และบางทีก็เป็นกับบางช่วงวัยที่อาจจะระห่ำและคึกคะนองเกินเหตุ
วันที่แกเจอก็คือ หนุ่มชาวยิวที่เพิ่งพ้นการเกณฑ์ทหาร พาเพื่อนมาดื่มกินที่รีสอร์ท แล้วเรียกบริกรด้วยการยกมือขึ้นแล้วดีดนิ้ว และคงมีพฤติกรรมแย่ๆ อีกหลายอย่าง
แกบอกพนักงานที่อยู่กับแกในวันนั้นว่า ไม่ต้องไปบริการ ถ้าแขกทำตัวแบบนี้ แล้วก็ไปบอกหนุ่มชาวยิวผู้นั้นว่า We are here to serve you, but we are not your servant!
เราอยู่เพื่อบริการ แต่ไม่ได้เป็นข้าราชบริพารของมึง (อุ๊ปส์ เขียนผิด ข้าทาสบริวารครับ)
เป็นคนมาอยู่ใหม่ก็ควรทำตัวให้เจ้าถิ่นรักและนับถือหน่อย
ผมเองก็ได้รับความช่วยเหลือเล็กน้อยๆ จากผู้อยู่มาก่อนหลายครั้ง
ตั้งแต่มาอยู่เกาะไม่กี่วัน ครอบครัวเรารู้จักกับนิชา สาวไทยที่อยู่เกาะมาสิบเอ็ดปีแล้ว ที่รู้จักกันเพราะเธอมักจะพาลูกวัยใกล้เคียงศิลป์มาเล่นที่รีสอร์ทอยู่บ่อยๆศิลป์ได้ไปเรียนฟุตบอลสัปดาห์ละสองวันก็เพราะเธอชักชวนและแนะนำ
วันดีคืนดีเธอก็ชวนครอบครัวเราไปออกเรือตกปลา ได้ปลาไม่เท่าไรหรอกครับ แต่บรรยากาศดี นั่งเรือจากหาดไปสักสิบนาทีก็ถึงแนวหิน ปลาไม่ทันกินเหยื่อที่หย่อนลงไป เราก็เหลือบไปเห็นเหยี่ยวสองตัวร่อนลมอยู่ใกล้ๆ เรือ
สบจังหวะก็พากันบินโฉบลงมาจับปลา จับปลาได้ก็บินกลับไปกินที่รังบนหน้าผาหินใกล้ๆ
คุยกับภรรยาว่าได้เห็นภาพนี้นี่คุ้มกว่าตกปลาได้เป็นไหนๆ
นกเป็นสัตว์สองขาเหมือนกับมนุษย์เรานะครับ
พี่หนึ่งคงพูดในใจว่ามึงจะบอกกูทำไม กูรู้อยู่แล้วว่านกมีสองขา ฮาฮ่า
สัตว์สองขาในโลกนี้มีน้อยกว่าสัตว์ไม่มีขา สี่ขา หกขา หรือแปดขาเยอะ ไม่ว่าจะนับด้วยจำนวนตัว หรือจำนวนสายพันธุ์
เพราะฉะนั้นในโลกของสัตว์แล้ว เรากับนกนับเป็นของแปลก
เราวิวัฒนาการเอาขาหน้าเป็นแขนและมือ ส่วนนกวิวัฒนาการแปลงไปเป็นปีก เราสำเร็จกว่านกแน่ในแง่ของการยึดครองและครอบครองโลกใบนี้
แต่วันนั้นในฐานะนักล่าปลาด้วยมือ และเครื่องมือต่างๆ นานา ก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมนักล่าที่ใช้ปีก กรงเล็บ สายตา และสายลม
กัปตันเรือเล็กๆ ที่เราจ้าง ชื่อมี่ (ผู้ชายร่างสัดทัดผิวเข้มแบบชาวเกาะ) แกชวนพวกเราคุยไปพลางระหว่างตกปลา
สำคัญนะครับเรื่องอัธยาศัยนี่ พาลูกค้ามาตกปลาแล้วทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความสุข ทั้งเวลาได้และไม่ได้ปลา
ปลาไม่กินเหยื่อนานเข้าและหมดเรื่องคุย แกคว้าปลาหมึกเป็นๆ ใต้ท้องเรือ มาทำซาชิมิให้พวกเรากิน
ผมถามแกว่าได้ข่าวเรื่องเด็กชาวยิวที่ตายจากแมงกะพรุนกล่องไหม และแกเคยเจอไหม
แกตอบตามประสาคนเกาะว่าเจอออกบ่อย เวลาเจอก็อย่าไปจับหางมัน แต่ตรงหัวจับได้ ถ้าโดนพิษจริงๆ ก็เอาน้ำทะเล หรือน้ำส้มสายชูล้าง อย่าเอามือซึ่งอาจเปื้อนทรายไปถู เพราะแผลจะลึก แล้วพิษจะเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น
แกเล่าว่าหลายปีก่อนมีเด็กฝรั่งตายด้วยแมงกะพรุนกล่อง แต่แกคิดว่าตายเพราะพ่อแม่ฝรั่งไม่ยอมให้คนแถวนั้นเข้าไปช่วยซะมากกว่า
พ่อแม่คู่นั้นร้องบอกกับคนที่จะเข้าไปช่วยว่า ดอกเตอร์ๆ ท่าเดียว แล้วกว่าจะพาไปหาหมอได้ก็ต้องนั่งทั้งเรือ ทั้งรถ ก็เลยไม่ทันการณ์
วันก่อนอยากกินปู ก็ได้รู้จากพี่จอย เจ้าของร้านเช่ามอเตอร์ไซค์แนะว่าไม่ต้องไปหากินตามร้านอาหารทะเล
แกว่าปูม้าตามร้านอาหารน่ะปูเป็นแน่ๆ แต่เป็นมากี่วันไม่รู้ ให้ไปบ้านชาวประมงแถวสะพานปลา ทิ้งเบอร์โทรฯ ไว้ จับได้เมื่อไรวานโทรฯ มาบอก
ผมทำตามที่แกว่า ขับรถไปให้เบอร์โทรฯ กับทิพย์ สาวชาวประมงบ้านหนึ่งไว้
สองสามวันผ่านไป เธอก็โทรฯ บอกให้ไปรับปูม้ามาสองโลฯ โลละสองร้อยแปดสิบ
ตอนเอามานี่ยังเป็นๆ อยู่เลย เธอว่าถ้าต้มใช้เวลายี่สิบนาที แต่ถ้านึ่งใช้เวลาสามสิบนาที
วิถีชาวเกาะ อยากกินปูม้าต้องรอจับได้สดๆ ค่อยเอาไปทำกิน
ถ้าไปฝืนกินตามร้าน นอกจากจะไม่อร่อยแล้ว ยังแพงกว่าเท่าสองเท่า
คนมาอยู่ใหม่อย่างเรา พอได้คำชี้แนะของผู้อยู่มาก่อน ชีวิตก็ดีขึ้นไม่น้อย
ด้วยรักและมิตรภาพ
จ๊อก
ปล. คนยิวทั้งหมดที่พวกเราพบบนเกาะเป็นคนน่ารักนะครับ ยังไม่เคยเจอคนไหนเหมือนพ่อหนุ่มที่แอนดี้เล่าให้ฟังเลย
ตอบ จ๊อก
1 แม้จะอยู่เกาะ แต่หลักการเรื่องสะกดการันต์ คุณต้องแม่นยำกว่านี้ว่ะ ความตั้งใจที่จะเขียน ‘ข้าทาสบริวาร’ แต่เบลอไปใช้ ‘ข้าราชบริพาร’ นี่ไม่เป็นมงคลกับชีวิตตัวเองและลูกเมีย
2 ชอบเรื่องเหยี่ยวของคุณมาก อยากไปนั่งเรือตกปลามองฟ้ามองน้ำกว้างๆ แบบนั้นบ้าง อยู่น่าน ผืนน้ำกว้างสุดที่รู้จักคือบ่อบำบัด (ชื่อดูแย่ใช่มั้ย แต่จริงๆ จ๊าบนะ สวยงาม น่าเดินเล่นยามเย็น อ้อ ตอนนี้มีสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่หนองน้ำครก เขาทำทางเดินไว้โดยรอบ ระยะทางยาวราวสักเกือบๆ สามกิโลฯ มีดงต้นไม้ดึกดำบรรพ์อยู่ตรงกลาง นกฝูงใหญ่อาศัยทำมาหากิน ถือเป็นทำเลทองสำหรับคนรักสุขภาพ) เอ่ยนามว่าน้ำนอกนั้นแปลว่าแม่น้ำ ลำธาร ซึ่งมันก็สดชื่น สบายตา สบายใจดี ทุกครั้งที่ได้ไปเยือน แต่พอเปรียบกับทะเลนี่ แหม เราห่างเหินวงการหาดทรายสายลมมานาน ทะเลสุดท้ายดูเหมือนจะเป็นรอบที่ลงไปสงขลากับคุณ แล้วแวะมานอนด้วยกันอีกคืนที่หาดทุ่งวัวแล่น พูดแล้วก็คิดถึง (เบียร์และทะเล) นึกไม่ออกเลยว่าโควิดและการจัดการวัคซีนห่วยๆ แบบนี้ เมื่อไหร่จะได้เห็นทะเลอีก
3 ไม่ใช่เหยี่ยว สัตว์ที่เราอะเมซิ่งตอนนี้คือแมว
ประทับใจในหลายเรื่องของมัน เช่น ความสันโดษ (บางตัวหรอกนะ อีกบางตัวนี่โซเชียลสุดๆ ติดคนจนไปๆ มาๆ คนก็พลอยติดแมว) ความเป็นนักล่า บ้านป่าของเราเลี้ยงแบบเปิดปล่อย เปิดคือไม่มีกรอบกรงจำกัด ปล่อยคือแม้จะให้อาหารบ้าง แต่หลักๆ คือมึงหากินเอาเอง เชื่อไหมว่ามันหาได้สบายมาก (ไม่ใช่ไปขโมยของบ้านอื่นนะ บ้านเราค่อนข้างโดดเดี่ยว ห่างไกลผู้คน) จับหนูได้แทบทุกวัน รวมทั้งตุ่นและนก แทบทุกวันนี่คือเท่าที่เห็นจะจะคาตา บางทีวันเดียวจัดไปสองสามรอบ ไม่จับเล่นเอาสนุก มันจับจริง กินจริง กินเกลี้ยงหมดทั้งตัว เห็นแล้วก็โล่งใจว่า เออ มึงไม่อดตายแน่ๆ
แล้วลองนึกภาพ ถ้าไม่มีแมว เราคงได้แต่งงานกับหนู คือแม่งแบบอยู่ไม่ได้เลยนะชีวิตบ้านป่า ถ้าไม่มีแมวนี่โดนหนูคาบไปแดกชัวร์
4 ‘ร้านนี้ไม่ต้อนรับยิว’
เมื่อครั้งยังเป็นพลเมือง ‘ถนนข้าวสาร’ เราเคยเจอป้ายทำนองนี้หลายครั้ง อีกบางทีก็เป็นเสียงบ่นเบื่อจากผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก ผับบาร์ เท่าที่ฟังก็มักเป็นเรื่องเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ชอบเอารัดเอาเปรียบ เขาเล่ามาก็ฟัง แต่เจอกับตัวเป็นๆ นี่ยังไม่เคย (อาจเพราะรู้จักชาวต่างชาติน้อย) ข้อสังเกตของฝรั่งแอนดี้น่าสนใจดี ที่เขาบอกว่าเป็นเพราะการศึกษา ไอ้เรื่องการศึกษาแย่ส่งผลเสียยังไงนี่เข้าใจ ไม่ต้องอธิบาย แต่เพิ่งรู้ว่าการศึกษาดีก็มีปัญหา ทำให้หลงทระนงตนว่าอยู่เหนือผู้อื่น สมควรกอบโกยได้มากกว่า จริงๆ ถ้าจะเถียง เราว่าอาจเป็นความเข้าใจไปเอง เพราะถ้าการศึกษาดีเลิศ มันควรส่งผลต่อมนุษย์ในแง่บวกมากกว่า ทั้งในแง่ professional และ mentality ถ้าเรียนดีแล้วได้ผลลัพธ์เป็นลบ เรามาช่วยกันเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นสนามเด็กเล่นดีกว่า
ส่วนคำว่า ‘ไทย’ ในทัศนะต่างชาติ เท่าที่เราเห็นบ่อย มักมีความหมายวนเวียนอยู่กับเซ็กซ์ ทะเล อาหาร ที่ใหม่ล่าสุดและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นคือเรื่อง ม.112 เขาแนะแนวกันอย่างอึกทึกเลยว่ามาเมืองไทย ห้ามวิจารณ์เจ้า หรือถ้ามีเหตุอันจำต้องแสดงความคิดเห็นกันจริงๆ ก็มองซ้ายแลขวาให้ดี ดูว่ากำลังพูดอยู่กับใคร เพราะไม่เช่นนั้นอาจต้องย้ายที่นอนจากโรงแรมสวยๆ ริมทะเล เข้าคุก
ชาวต่างชาติสะท้อนความเถื่อนออกอากาศให้เห็นชัดๆ เช่นนี้แล้ว ถ้าเป็นแผ่นดินอื่น พวกเขาคงอับอายและรีบแก้ไขปรับปรุง แต่กับ ‘ที่นี่ ประเทศไทย’ คนอย่างพวกเราก็ยังเดายากอยู่ดี ว่าผู้มีอำนาจท่านจะรู้จักรับฟังบ้างหรือเปล่า หรือไม่ว่าจะยังไงก็หน้าด้านดันทุรังที่จะอยู่กันไปแบบ–ไม่รู้ๆๆ ไม่ออกๆๆ มึงลองมาไล่ดิ ฯลฯ ผมสวดมนต์ทุกวัน
มันน่าเหนื่อยและสิ้นหวังอยู่เหมือนกันนะคุณ ยิ่งกับผู้คนที่ไม่มีทางออก
ที่ยังพอมีนับวันก็ริบหรี่ลงไปทุกที ว่าแล้วก็คิดถึงทะเลขึ้นมาอีกแล้ว บ่ายๆ ที่แสงแดดตั้งอกตั้งใจทำงานดีแบบนี้ มันน่าไปหาแมงกะพรุน เฮ้ย ปูม้า มากระแทกปากเล่นสักกิโลฯ
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน